รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2015 13:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2558

Summary:

1. พาณิชย์เผยพ.ค.ส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 5.0 และนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 19.97

2.ไทย-มาเลเซียตั้งเป้าการค้า 3 หมื่นล้านดอลลาร์

3. ตลาดน้ำมันซึม น้ำมันร่วงต่ำกว่า 60 เหรียญ

1. พาณิชย์เผย พ.ค.ส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 5.0 และนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 19.97
  • สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์แถลงข้อมูลการส่งออกเดือน พ.ค. 58 มีมูลค่า 18,429 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ - 5.0 ด้านการนำเข้าเดือน พ .ค . 58 มีมูลค่า 16,012 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ- 20.0 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน พ .ค . 58 เกินดุล 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 58 ส่งออกมีมูลค่า 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ ร้อยละ -4.20 ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 85,371 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -9.39 ส่งผลให้ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 58 เกินดุล 3,323 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ -5.0 จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและ อาเซียน และจากการหดตัวของหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.5 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ เป็นสำคัญ ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -11.7 ตามการหดตัวของสินค้าในหมวดอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 7 เดือนที่ร้อยละ 5.9 จากการขยายตัวของมันสำปะหลังและข้าว เป็นสำคัญ ในขณะที่ มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ -20.0 จากการหดตัวของสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และสินค้าเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ร้อยละ -0.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -2.2 ถึง 1.8) และคาดว่ามูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -1.8 ถึง 2.2) ประมาณการ ณ เม.ย. 58 ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 58
2. ไทย-มาเลเซียตั้งเป้าการค้า 3 หมื่นล้านดอลลาร์
  • รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังเข้าร่วมประชุมการค้าะหว่างไทยกับมาเลเซียครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างไทยและมาเลเซีย 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 61 โดยจะมีการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน เช่น สนับสนุนนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่อ.สะเดา จ.สงขลา รวมทั้งในเขตเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ทางเหนือและตะวันออกของมาเลเซีย นอกจากนี้ ไทยและมาเลเซียต่างมีศักยภาพในอุตสาหกรรมฮาลาล จึงเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือเพื่อขยายมูลค่าการค้าสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างกัน รวมทั้งไปสู่ตลาดโลกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด (55-57) พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้ากับมาเลเซียเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 25,779.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าด้านการส่งออกไปมาเลเซียและการนำเข้าจากมาเลเซียจำนวน 12,734.8 และ 13,044.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ห่างจากเป้า 3 หมื่นล้านเหรียญมากนัก โดยหากลงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกสามอันดับแรกคือ น้ำมันสำเร็จรูป ยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญคือ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ และเคมีภัณฑ์ (ข้อมูลเมื่อปี 57) ทั้งนี้ การส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต เนื่องจากเป็นการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจนอกภูมิภาคอาเซียนที่มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนการขนส่งที่น้อยกว่า นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนยังเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ ยังมีศักยภาพในการเจริญเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะยาว
3. ตลาดน้ำมันซึม น้ำมันร่วงต่ำกว่า 60 เหรียญ
  • ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ส.ค. ในตลาดนิวยอร์คเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 7 เซนต์ มาอยู่ที่ระดับ 59.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่ซบเซาที่สุดในรอบ 8 เดือน จากปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินจากสหรัฐฯ ที่ยังถูกผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการคาดการณ์การเจรจาเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านกรณีอาวุธนิวเคลียร์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย. นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุปทานยังคงล้นเกินในตลาดโลก จากสหรัฐฯ ที่ยังคงสามารถผลิตน้ำมันดิบออกมาได้มากเป็นประวัติการณ์ที่ 9.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังสามารถขุดเจาะน้ำมันออกมาได้ในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ทั้งๆ ที่มีการลดแท่นขุดเจาะไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ในโอเปคยังไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองแต่อย่างใดในช่วงเวลาอันสั้น หลังจากที่มีการผลิตเกินโควต้าของตนที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี อีกปัจจัยที่น่าจับตามองในช่วงถัดไปคือ ความเป็นไปได้ของการเจรจากรณีอิหร่านที่แนวโน้มที่การเจรจาจะหาข้อยุติไม่ได้ คือ การเจรจาล่าช้าหรือการเจรจาล้มเหลว ยังคงมีความเป็นไปได้ แม้กรณีที่ประสบความสำเร็จซึ่งจะทำให้อุปทานส่วนเกินถูกเพิ่มเติมจากอิหร่านอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 6 เดือนจะมีแนวโน้มมากกว่า ตลาดจะจับตามองปัจจัยนี้เช่นกันในระยะสั้น ขณะที่ในช่วงระยะกลางไปจนถึงสิ้นปี ราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะยังคงถูกกดดันด้วยอุปทานล้นเกินจากทั้งฝั่งสหรัฐฯ และกลุ่มโอเปคเป็นสำคัญ ซึ่ง สศค. คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ