นายกฤษฎาฯ สรุปว่า “รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล เพื่อให้การใช้จ่ายภาคสาธารณะเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป”
ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)
ไตรมาสที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2558) และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558
มีรายได้ 1,647,592 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 116,607 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 และมีรายจ่าย 1,632,077 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 171,273 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 ทั้งนี้ ดุลการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2558 เกินดุล 15,515 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขาดดุล 39,151 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย รวมทั้งการชำระต้นเงินกู้) เกินดุล 48,506 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP
1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 656,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 43,643 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.1 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 521,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 30,567 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันได้สูงกว่าปีที่แล้ว 17,911 ล้านบาท หรือร้อยละ 110.6 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้น 12,621 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 สำหรับกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ทั้งสิ้น 134,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 13,076 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.7 โดยมีสาเหตุจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 19,419 ล้านบาท และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายได้จากเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น 2,845 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้รับเงินอุดหนุนลดลง 10,800 ล้านบาท
ในด้านรายจ่าย รัฐบาลมีการเบิกจ่ายรวม 721,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 43,088 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.3 ประกอบด้วย
- รายจ่ายรัฐบาล 652,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 53,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.0 เป็นผลมาจากรายจ่ายเงินช่วยเหลือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น จำนวน 28,632 ล้านบาท และ 10,538 ล้านบาท ตามลำดับ
- รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 4,487 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 2,331 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1,380 ล้านบาท และโครงการแก้ไขปัญหาจำนวนลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ SAP (Software License) ที่ใช้งานในระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง จำนวน 859 ล้านบาท (2) รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จำนวน 1,475 ล้านบาท (3) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 350 ล้านบาท และ (4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 331 ล้านบาท
- รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ จำนวน 64,642 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 10,630 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.1 โดยมีสาเหตุมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายเงินชดเชยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 10,967 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2558 ขาดดุล 64,997 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 555 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8
1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. มีรายได้ จำนวน 166,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 18,894 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น 15,945 ล้านบาท ด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่าย จำนวน 124,598 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6,214 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.8 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 41,641 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP) เกินดุลสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกินดุล จำนวน 25,108 ล้านบาท
1.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้ 982,147 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 170,162 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.8 โดยมีสาเหตุหลักจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลง จำนวน 198,575 ล้านบาท ด้านรายจ่าย รัฐวิสาหกิจฯ มีรายจ่ายรวม 943,276 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 199,165 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายจ่ายประจำลดลงเป็นสำคัญ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง ของรัฐวิสาหกิจฯ เกินดุล 38,871 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP)
2. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558) มีรายได้ 3,431,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 269,452 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.3 เป็นผลมาจากการที่รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้ลดลง 287,488 ล้านบาท สำหรับด้านรายจ่าย มีทั้งสิ้น 3,646,165 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 330,247 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3 ส่งผลให้ดุลการคลัง ภาคสาธารณะขาดดุล 215,165 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP โดยขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 60,795 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.0 ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ขาดดุล 120,508 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP
2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 1,366,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 85,711 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.7 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 1,057,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้ว 40,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 สาเหตุสำคัญเกิดจากการจัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีจากการบริโภค ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 21,294 ล้านบาท จากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และมีปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาขายปลีกที่ลดลง นอกจากนี้ ในปีนี้ได้มีการนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของทุนหมุนเวียน เป็นรายได้แผนดิน และมีรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ความถี่ 2.1 GHz สำหรับกองทุนนอกงบประมาณ มีรายได้ทั้งสิ้น 309,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 45,582 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.3 โดยมีสาเหตุจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 36,878 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคมมีรายได้จากเงินสมทบเพิ่มขึ้น 14,506 ล้านบาท
ในด้านรายจ่าย รัฐบาลมีรายจ่ายรวม 1,635,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 21,672 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ประกอบด้วย
- รายจ่ายรัฐบาล 1,468,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 28,157 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0
- รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 7,449 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) รายจ่ายจากเงินกู้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 3,385 ล้านบาท (2) รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง จำนวน 2,450 ล้านบาท (3) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 937 ล้านบาท และ (4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 677 ล้านบาท
- รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ จำนวน 159,984 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4,223 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.6 โดยมีสาเหตุมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายเงินชดเชย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12,856 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 4,066 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 ขาดดุล 268,870 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.0 ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 64,039 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.2
2.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. มีรายได้ จำนวน 345,058 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 18,493 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.1 เนื่องจากได้รับรายได้จากเงินอุดหนุนลดลง 23,596 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่จัดเก็บเองและรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้เพิ่มขึ้น 2,735 ล้านบาท และ 2,369 ล้านบาท ตามลำดับ ด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่าย จำนวน 285,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12,489 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.6 ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 59,475 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) เกินดุลลดลง 30,982 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกินดุล จำนวน 90,457 ล้านบาท
2.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้ 2,080,621 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 287,488 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.1 โดยมีสาเหตุหลักจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลง จำนวน 316,125 ล้านบาท ด้านรายจ่าย รัฐวิสาหกิจฯ มีรายจ่ายรวม 2,086,391 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 315,226 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.1 โดยมีสาเหตุหลัก จากการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายจ่ายประจำลดลง 282,132 ล้านบาท และ 24,776 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจฯ ขาดดุล 5,770 ล้านบาท
--กระทรวงการคลัง--