Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2558
Summary:
1. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.6
2. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ลดเป้าส่งออกปี 58 เป็นร้อยละ -2.0
3. เยอรมนีเผยยอดค้าปลีก ในเดือนพ.ค.ขยายตัวร้อยละ 0.5
1. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.6
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมเดือน พ.ค.58 อยู่ที่ระดับ 158.85 หรือหดตัวลงร้อยละ -7.6 แย่ลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -7.1 อย่างไรก็ดี สศอ. คาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมปี 58 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2 - 3
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการหดตัวของการผลิตสินค้าในหมวดการผลิตเพื่อเน้นการส่งออก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า HDD หดตัวร้อยละ -19.95 เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกปรับตัวลง สำหรับการผลิตรถยนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -8.76 จากการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -18.28 และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดต่างปรับตัวลง อาทิ หม้อหุงข้าว เครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ -26.37 และ -85.64 ตามลำดับ จากปัจจัยของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ยังคงชะลอตัวอยู่ในปัจจุบัน
2. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ลดเป้าส่งออกปี 58 เป็นร้อยละ -2.0
- นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 58 จากเดิมคาดว่าจะทรงตัวหรือโตร้อยละ 0 เป็นหดตัว -2.0 หากการส่งออก 7 เดือนที่เหลือของปีมีมูลค่าประมาณ 19,189 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากการส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ยเพียงเดือนละ 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกอาจจะหดตัวร้อยละ -3.5
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน พ.ค.58 หดตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ -5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่า 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการหดตัวของสินค้าส่งออกทุกหมวด ยกเว้นสินค้าเกษตรกรรม สอดคล้องกับการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ตะวันออกกลางหดตัว - 26.9 เกาหลีใต้หดตัวร้อยละ -15.9 สหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ -13.7 และภูมิภาคอาเซียนหดตัวร้อยละ -7.2 อย่างไรก็ดี การส่งออกไปจีน ยังขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 ตลาดCLMV ขยายตัวร้อยละ 2.5 และสหรัฐฯ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกในปี 58 ได้แก่ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง 2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยน จากสถานการณ์ของกรีซ และ 3. ดัชนีราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงต่อเนื่อง จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลง
3. เยอรมนีเผยยอดค้าปลีก ในเดือนพ.ค.ขยายตัวร้อยละ 0.5
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี รายงานยอดค้าปลีก ในเดือนพ.ค.ของเยอรมนี ขยายตัวร้อยละ 0.5 เทียบกับเดือนเม.ย. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และจะช่วยสนับสนุนการบริโภคในภาคเอกชนที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดค้าปลีกเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนีมีสัดส่วนร้อยละ 28.5 ของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปรวม ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหภาพยุโรปส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก 1) GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้าโดยขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว และ 2) จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ 54.1 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 53.6 จุด นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 49 เดือน และการส่งออก ในเดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 ดีขึ้นจากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257