Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2558
Summary:
1. คมนาคมคาดใกล้สรุปค่าธรรมเนียมแท็กซี่
2. รัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดเป้าขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ 5.2
3. น้ำมันร่วงแรงหลังแท่นขุดเจาะสหรัฐฯ เพิ่มครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
1. คมนาคมคาดใกล้สรุปค่าธรรมเนียมแท็กซี่
- รมว. กระทรวงคมนาคม เปิดเผยเกี่ยวกับการเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่รอบที่ 2 ในเดือนก.ค.ว่าจะยังคงมีการพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะมีการปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 หลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นครั้งแรกไปแล้วก่อนหน้านี้ร้อยละ 8 ส่วนค่าธรรมเนียมแท็กซี่ในสนามบินสุวรรณภูมิอาจมีการเพิ่มจากคันละ 50 บาท เป็น 75 และ 95 บาท ในรถแทกซี่คันเล็กและคันใหญ่ ตามลำดับ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนนี้
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับอัตราค่าโดยสารแทกซี่นั้น ได้มีการตกลงกันตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน โดยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 แต่ได้แบ่งเป็นสองช่วง ในช่วงแรกมีการปรับตั้งแต่เดือนธ.ค. 57 ที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มร้อยละ 8 ส่วนช่วงที่สองที่กำลังมีการพิจารณาจะมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทั้งนี้ การปรับราคาในครั้งก่อนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดค่าโดยสาร (สัดส่วนในปีฐานร้อยละ 2.15) เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0. 43 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดังนั้น คาดว่าการปรับอัตราค่าโดยสารในครั้งนี้ ซึ่งมีอัตราที่ต่ำกว่า จะส่งผลกระทบน้อยกว่าการปรับเพิ่มในครั้งแรก
2. รัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดเป้าขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ 5.2
- รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ จากเดิมที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 6.6 ลงสู่ร้อยละ 5.2 โดยระบุว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงทั่วโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 55.4 ของ GDP ปี 57 ได้ซบเซาลงสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 58 ที่ลดลงมาที่ระดับ 111.3 จุด จากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ลดลง ขณะที่ภาคอุปทานก็ส่งสัญญาณไม่ดีนัก แม้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จากดัชนีบรรยากาศการดำเนินธุรกิจและผลผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2/58 ยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.7
3. น้ำมันร่วงแรงหลังแท่นขุดเจาะสหรัฐฯ เพิ่มครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
- ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ส.ค. ในตลาดนิวยอร์คและตลาดลอนดอนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงกว่าร้อยละ 4.0 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ถือเป็นการปรับตัวลดลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา หลังข้อมูลจำนวนยอดแท่นขุดเจาะของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมา 7 เดือนติดต่อกันกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นจำนวน 12 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 640 แท่น
- สศค. วิเคราะห์ว่า อุปทานล้นเกินยังคงกดดันราคาอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของแท่นขุดเจาะของสหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยเสริมในฝั่งอุปทานนอกเหนือไปจากการเจรจายกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านกรณีอาวุธนิวเคลียร์ และการผลิตเกินโควต้าโดยกลุ่มโอเปคอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์อุปทานล้นเกินยังคงเป็นสิ่งที่ตลาดให้น้ำหนักมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกฟื้นตัวชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด การกลับมาของแท่นขุดเจาะของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 เดือนแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องติดตามตัวแปรดังกล่าวต่อไปว่าจะเป็นการกลับมาอย่างถาวรหรือไม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของจำนวนดังกล่าวจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาในช่วงถัดไปจนถึงสิ้นปี ทั้งนี้ ราคาในช่วงครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 56.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดย สศค. คาดว่าราคาเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 63.2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลซึ่งจะทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257