Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2558
1. ออมสิน เตรียมเสนอบอร์ดออกมาตรการช่วยลูกหนี้ที่ประสบภัยแล้ง
2. ญี่ปุ่นเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ลดลง สะท้อนเศรษฐกิจหยุดชะงัก
3. นักวิเคราะห์คาด GDP จีนขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 7 ในไตรมาส 2/58
- นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่าธนาคารเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อขยายระยะเวลามาตรการพักชำระเงินต้นออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมครบกำหนดโครงการในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ และปัญหาภัยแล้ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 58 นี้ คาดว่าความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนจะลดลงจากปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ของประชาชนฝั่งผู้ประกอบการหดตัว กอปรกับปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ และทำให้ผลผลิตเสียหายไปบางส่วน รวมทั้งปัญหาการหดตัวของราคาสินค้าเกษตรจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวเช่นกัน อาจส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวอย่างชะลอลง ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์อาจดำเนินนโยบายการให้สินเชื่ออย่างเข้มงวดเนื่องจากความกังวลต่อปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้บรรยากาศการบริโภคและการลงทุนแย่ลงไปอีก ทั้งนี้ หากธนาคารในความดูแลของรัฐบาล อาทิ ธนาคารออมสิน ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ก็จะเป็นส่วนช่วยเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นปรับลดลงเป็นครั้งที่สองติดต่อกันจากการประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย. และล่าสุดวันที่ 10 มิ.ย. 58 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อช่วยกระตุ้น และรักษาบรรยากาศของเศรษฐกิจ
- ญี่ปุ่นเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลง หลังจากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ผลผลิตอุตสาหกรรม การค้าปลีก และการจ้างงานใหม่ ลดลง 1.8 จุด จากเดือนก่อนหน้า แตะที่ 109.2 ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดการประเมินพื้นฐานทางเศรษฐกิจจาก "กำลังปรับตัวดีขึ้น" เป็น "หยุดชะงักชั่วขณะ"
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีพ้องเศรษฐกิจที่ปรับลดลง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่อยู่ที่ 49.9 จุด สะท้อนถึงกิจกรรมด้านการผลิตที่เริ่มส่งสัญญานปรับลดลง อย่างไรก็ดี จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 58 ยังคงมีปัจจัยหนุนจากภาคต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่มีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย - พ.ค. 58 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. - พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 41.8 จุด สอดคล้องกับยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. - พ.ค. 58 กลับมาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 0.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.4 - 1.4)
- เฉิน เหว่ยตง รองผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันการเงินระหว่างประเทศของแบงก์ ออฟ ไชน่า กล่าวว่าดัชนี ชี้วัดการขยายตัวหลักๆ เช่น การลงทุน การบริโภค และการส่งออกสุทธิ ต่างชะลอตัวลงในปีนี้ และคาดว่าการขยายตัวของจีดีพีในครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ร้อยละ 6.8
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของจีนในไตรมาส 2/58 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 7 จากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.4 ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศก็ยังไม่ดีนัก สะท้อนจากการที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน มิ.ย. 58 ลง 25bps เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปลายปี 57 ขณะที่สถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เคยซบเซาในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากราคาบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 58 หดตัวในอัตราชะลอลงครั้งแรกในรอบ 9 เดือน อยู่ที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาบ้านใหม่ในเมืองใหญ่ เช่น เซินเจิ้น เริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายของทางการจีน นอกจากนี้ ด้านการส่งออกและนำเข้าก็ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -17.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนอาจเพิ่มมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 58 เพิ่มเติม
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257