Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2558
1. กกร. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยโตเหลือร้อยละ 3 จากส่งออกติดลบร้อยละ -2.0
2. ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ เดือนมิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 12.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
3. การผลิตอุตสาหกรรมเยอรมนีในเดือนพ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า
- นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3 เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยคาดว่าการส่งออกปี 58 จะติดลบร้อยละ -2.0 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตไม่ถึงร้อยละ 1.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปรับลดลง ได้แก่ 1) ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าส่งออกที่หดตัวติดต่อกัน 5 เดือน 2) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่16 จากการลดลงราคายางพารา รวมทั้งราคาหมวดปศุสัตว์ และราคาหมวดประมง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงหดตัว อีกทั้งยังมีภาวะภัยแล้งเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันอีกทางหนึ่ง กระทบต่อภาคการบริโภคที่ปรับลดลงตามลงไปด้วย 3) ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยน จากสถานการณ์ของกรีซ 4) ผลกระทบ ใบเหลือง IUU หรือกฎระเบียบเพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย จากสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้สศค. มีการประมาณการไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 โดยมีแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีและแรงกระตุ้นจากภาคการคลัง แต่อย่างไรก็ตามจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
- กรมการขนส่งทางบก รายงานยอดการจดทะเบียนใหม่ของรถจักรยานยนต์ ในเดือน มิ.ย. 58 มีจำนวน 190,496 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวจากปีก่อน โดยแบ่งเป็นยอดการจดทะเบียนใหม่ของรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวน 42,803 คัน และเขตภูมิภาค จำนวน 147,693 คัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากยอดการจดทะเบียนใหม่ของรถจักรยานยนต์ดังกล่าว คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และถือว่ากลับมาขยายตัวในรอบ 2 เดือน จากเดือนก่อนหดตัวร้อยละ -5.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งในกรุงเทพฯที่ร้อยละ 7.6 และภูมิภาคที่ขยายตัวที่ร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ราคาสินค้าเกษตรบางตัวปรับตัวดีขึ้น 2) การปรับขึ้นของเงินเดือนข้าราชการที่มีผลในเดือน มิ.ย.58 เป็นต้นไป 3) การฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รวมทั้งประเทศในไตรมาส 2/58 ยังคงหดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ทางการเยอรมนี เปิดเผยว่า การผลิตอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนผลผลิตภาคก่อสร้างยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อน ในขณะที่นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส คาดการณ์ว่าภาคการผลิตของเยอรมนีมีแนวโน้มปรับตัวแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 58 จากคำสั่งซื้อที่คึกคัก ซึ่งช่วยหนุนความหวังที่ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซน ท่ามกลางปัญหาหนี้กรีซ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ภาคการผลิตเยอรมนีปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนีมีสัดส่วนร้อยละ 28.5 ของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปรวม ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหภาพยุโรปส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด ได้แก่ 1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 54.1 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 53.6 จุด นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 49 เดือน 2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 52.5 จุด สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน และ 3) การส่งออก ในเดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 ดีขึ้นจากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257