Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2558
Summary:
1. กระทรวงคมนาคมสั่งชะลอขึ้นราคาแท็กซี่ออกไปอีก 3 เดือน
2. ธปท. ประเมินผลกระทบของหนี้กรีซต่อไทยว่าจะมีผลกระทบทางอ้อมบ้างแต่อยู่ในวงจำกัด
3. กรีซพยายามขอเงินช่วยเหลือรอบใหม่
1. กระทรวงคมนาคมสั่งชะลอขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์ออกไปอีก 3 เดือน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากได้รับรายงานข้อมูลพิจารณาการปรับขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ จึงได้ข้อสรุปว่าจะชะลอการอนุมัติปรับค่าโดยสารแท็กซี่รอบ 2 อีกร้อยละ 5 ออกไปก่อนอีก 3 เดือน เนื่องจากประเมินแล้วพบว่ามาตรฐานการให้บริการของแท็กซี่มิเตอร์ได้รับคะแนนประเมินเฉลี่ยที่ร้อยละ 45 - 50 และไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 75 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะนำมาเป็นตัวชี้วัดให้ปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าโดยสารของแท็กซี่มิเตอร์จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดค่าโดยสารสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของตระกร้าเงินเฟ้อ โดยในเดือน มิ.ย. 58 ราคาสินค้าในหมวดค่าโดยสารสาธารณะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัวช้า ดังนั้น การชะลอการปรับขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์ออกไปอีก 3 เดือน เพื่อประเมินการให้บริการของแท็กซี่มิเตอร์มาตรฐานที่กำหนดจะช่วยให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะปรับลดลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ -0.3 ถึง 0.7) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ค. 58 ต่อไป
2. ธปท. ประเมินผลกระทบของหนี้กรีซต่อไทยว่าจะมีผลกระทบทางอ้อมบ้าง แต่อยู่ในวงจำกัด
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินผลกระทบหลังจากที่กรีซลงประชามติไม่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ ว่าอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเงินให้ผันผวนในระยะสั้น แต่ผลกระทบโดยรวมต่อไทยเบื้องต้น จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากไทยมีความเชื่อมโยงกับกรีซค่อนข้างต่ำ ทั้งในส่วนของภาคการเงินและการค้า และแม้จะมีผลกระทบทางอ้อมบ้าง แต่คาดว่าอยู่ในวงจำกัด
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบของหนี้กรีซไม่มีผลต่อเศรษฐกิจจริงของไทยมากนัก เนื่องจาก 1) ฐานะของสถาบันการเงินจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยไม่ได้มีธุรกรรมทางการเงินติดต่อกับกรีซโดยตรง ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่จะผ่านความเชื่อมโยง (Exposure) กับยุโรปน้อยมาก โดย ณ พ.ค. 58 มี ธพ. 11 แห่ง ที่ให้สินเชื่อและลงทุนในหลักทรัพย์กับ 10 ประเทศในยุโรปรวม 5.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของสินทรัพย์รวม 2) ผลกระทบทางการค้าจะอยู่ในวงจำกัด โดยไทยมีการค้าโดยตรงกับกรีซคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.06 ของการส่งออกรวม อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบระยะสั้นจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลก
3. กรีซพยายามขอเงินช่วยเหลือรอบใหม่
- นายกรัฐมนตรีของกรีซ ดำเนินความพยายามรอบใหม่ในการขอเงินช่วยเหลือจากกลุ่มเจ้าหนี้ ในการประชุมฉุกเฉินผู้นำกลุ่มประเทศยูโร อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า กรีซจะต้องมาพร้อมกับข้อเสนอปฏิรูปฉบับใหม่ที่จริงจัง และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งทุกฝ่ายกำลังรอข้อเสนอจากกรีซอยู่ พร้อมยืนยันว่า เป้าหมายของยุโรป ยังต้องการให้กรีซอยู่ในกลุ่มยูโรต่อไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลกรีซได้มีการทำประชามติขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและประชาชนไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 61 ของผลการทำประชามติ ทำให้รัฐบาลกรีซไม่มีเงินชดใช้หนี้ และต้องผิดนัดชำระหนี้ (Default) ประเมินว่า หากกรีซต้องออกจากเงินยูโร ค่าเงินสกุลใหม่ของกรีซจะอ่อนค่ารุนแรง (ร้อยละ 50) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจกรีซที่มีหนี้เป็นสกุลเงินยูโร ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอปฏิรูปฉบับใหม่เพื่อที่จะทำให้กรีซอยู่ในกลุ่มยูโรต่อไป สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย นั้น เนื่องจากกรีซมีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยในระดับต่ำ จึงไม่มีผลต่อเศรษฐกิจจริงของไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังเรื่องค่าเงินและราคาสินทรัพย์ทางการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินที่คาดว่าจะผันผวนอย่างรุนแรง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257