รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 21, 2015 15:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. บล.เอเชียเวลท์หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือโตร้อยละ 3.0 ภัยแล้งรุนแรง-ส่งออกไม่ฟื้น

2. บีโอไอเผย 6 เดือนปี 58 อนุมัติลงทุนกว่า 4.12 แสนล้านบาท

3. กรีซจ่ายหนี้ที่ผิดชำระคืนให้ IMF แล้ว

1. บล.เอเชียเวลท์หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือโตร้อยละ 3.0 ภัยแล้งรุนแรง-ส่งออกไม่ฟื้น
  • นายวรุตม์ศิวะศริยานนท์กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยบล.เอเชียเวลท์กล่าวว่าได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.0 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.8 เนื่องจากมองว่าปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาใหญ่และน่าจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม โดยตรงนอกจากนี้ทางบล.เอเชียเวลท์คาดว่า GDP ภาคเกษตรกรรมทั้งปีจะติดลบร้อยละ 6.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานและปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย ทำให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก คาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรมและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 อยู่ที่ 8,442.28 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการหดตัวร้อยละ -8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากพิจารณาในมิติความสูญเสียต่อการเติบโตของ GDP (contribution to GDP) พบว่าความเสียหายนี้จะทำให้ GDP ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.15 ภายใต้สมมติฐานที่ว่าปัญหาภัยแล้งจะสิ้นสุดลงและชาวนาจะสามารถเริ่มทำนาปีได้ในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้ โดยให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ มีปริมาณคงที่ อย่างไรก็ตาม หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีหรือมีมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกรคาดว่าจะทำให้ความสูญเสียดังกล่าวจะลดน้อยลงได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58)
2. บีโอไอเผย 6 เดือนปี 58 อนุมัติลงทุนกว่า 4.12 แสนล้านบาท
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.-มิ.ย.58) ว่ามีกิจการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 1,254 โครงการมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 412,690 ล้านบาท โดยมีจำนวน 523 โครงการหรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของโครงการทั้งหมดที่เป็นกิจการที่ผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้ถึงปีละ 588,805 ล้านบาท
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ 7 มิ.ย. 57 ที่มีความชัดเจนขึ้น ทำให้การขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 57 โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 ที่มีกิจการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 1,254 โครงการ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 68.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากพิจารณาเม็ดเงินที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการการลงทุนพบว่า ขยายตัวในระดับสูงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 122.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกิจการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ กลุ่มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตรเคมีภัณฑ์พลาสติก และกระดาษ เป็นต้น ซึ่งกิจการส่วนใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมจะเห็นได้ว่าเป็นกิจการที่ผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยในอนาคต
3. กรีซจ่ายหนี้ที่ผิดชำระคืนให้ IMF แล้ว
  • รัฐบาลกรีซได้จ่ายหนี้จำนวน 2.05 พันล้านยูโรที่ผิดชำระคืนแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แล้ว หลังจากผิดชำระมา 2 งวด (ผิดชำระหนี้เมื่อวันที่ 30 มิย. และผิดชำระอีกครั้งเมื่อวันที่ 13 กค.) ในช่วงระหว่างการเจรจาขอเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป รวมถึงได้จ่ายหนี้จำนวน 4.2 พันล้านยูโรของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ถึงกำหนดต้องจ่ายในวันเดียวกันด้วย ด้านความเคลื่อนไหวอื่นๆ ธนาคารกรีซกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแล้ว หลังจากปิดมานานกว่า 3 สัปดาห์ เนื่องจากวิกฤติการเงินในประเทศ แต่ยังจำกัดให้ประชาชนถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้สัปดาห์ละ 420 ยูโร (ราว 15,000 บาท) และยังคงห้ามการโอนเงินไปยังธนาคารต่างประเทศและห้ามนำเช็คมาแลกเงินสดตามเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกลับมาชำระคืนหนี้ของกรีซและธนาคารกรีซสามารถกลับมาเปิดบริการอีกครั้งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นบางส่วนให้กับนักลงทุนและผู้บริโภคให้กลับคืนมา ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากอานิสงค์ของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดย สศค. คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวได้ที่ ร้อยละ 1.3 หรือที่ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.8-1.8 เร่งขึ้นจากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ