รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2015 13:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมมิถุนายนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 84.0 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

2. ส.อ.ท. ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2558 เหลือ 2.05 ล้านคัน จากเดิม 2.15 ล้านคัน

3. GDP สิงคโปร์ ครึ่งแรกปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมมิถุนายนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 84.0 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 84.0 ลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาภัยแล้งเป็นปัจจัยหลักฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของเดือนพฤษภาคม 2558 ที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือ 2.05 ล้านคัน ทั้งหมดต่างเป็นตัวบ่งชี้ได้ถึงความเปราะบางของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ปัจจัยลบอื่นๆ ได้แก่ 1) ความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค 2) ปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามในหลายพื้นที่ จนกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานกำลังซื้อที่สำคัญของสินค้าอุตสาหกรรม และ 3) ความกังวลต่อปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของไทยทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน จับตา: MPI มิถุนายน ประกาศสัปดาห์หน้า
2. ส.อ.ท.ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2558 เหลือ 2.05 ล้านคัน จากเดิม 2.15 ล้านคัน
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงปรับเป้าการผลิตรถยนต์ในปี 2558 ลงมาอยู่ที่ 2.05 ล้านคัน จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศลง 100,000 คัน มาอยู่ที่ 8.5 แสนคัน แต่ยังคงเป้าการผลิตเพื่อส่งออกไว้ที่ 1.2 ล้านคัน อย่างไรก็ดี เป้าหมายใหม่ดังกล่าวยังสูงกว่ายอดผลิตรถยนต์ในปี 2557 ราว 169,993 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.04
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ดังกล่าว เป็นการปรับลดการผลิตในส่วนของการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนยังมีสัญญาณไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายน 2558 มีจำนวน 45,277 คัน หดตัวร้อยละ -22.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่หดตัวร้อยละ -20.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่าการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2558 จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจาก 1) รายได้เกษตรกรยังคงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 2) ความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ที่ อยู่ที่ร้อยละ 79.9 ของ GDP 3) การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 4) ความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อ และ 5) ความเชื่อมั่นที่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ จับตา: ส่งออกรถยนต์มิถุนายน ประกาศสัปดาห์หน้า
3. GDP สิงคโปร์ ครึ่งแรกปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับคาดการณ์ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 - 4.0 ในปี 2558 สอดคล้องกับธนาคารกลางสิงคโปร์ ที่เปิดเผยว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ ส่งสัญญาณชะลอลง สะท้อนจาก 1) GDP ไตรมาส 2 ปี 2558 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากภาคการผลิตที่หดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และ 2) เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดพบว่า มูลค่าการส่งออก ในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกไปยังกลุ่มยูโรโซน สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่หดตัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2558 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากปี 2557 ประมาณการ ณ เดือนเมษายน 2558 และปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 นี้ จับตา: สมมติฐานใหม่ของอัตราการขยายตัวของสิงคโปร์ปี 2558 ประกาศสัปดาห์หน้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ