Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2558
1. ส.อ.ท. หวั่นสถานการณ์ภัยแล้งฉุด GDP ปี 58 โตไม่ถึงร้อยละ 3.0 ต่อปี
2. อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. มองส่งออกปีนี้ติดลบร้อยละ 1.7
3. ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 1.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้น
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะติดลบประมาณร้อยละ -2.0 ต่อปี โดยได้รวมผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้วแต่หากมีความรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็อาจจะต้องปรับลด ทั้งนี้ ส.อ.ท.จะประเมินภาพรวมอีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เป็นผลส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ชะลอตัวทำให้การส่งออกของไทย 5 เดือนแรกปี 58 หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี และปัญหาภัยแล้ง โดย สศค. วิเคราะห์ มูลค่าความสูญเสียจากปัญหาภัยแล้งต่อการเติบโตของ GDP (contribution to GDP) จะทำให้ GDP ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.28 ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ปัญหาภัยแล้งจะสิ้นสุดลง และชาวนาจะสามารถเริ่มทำนาปีได้ในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย โดยในปี 58 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 18.6 ต่อปี อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้า
- นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเมินว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้จะติดลบร้อยละ 1.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาฐานราก จากการไม่พัฒนาและยกระดับนวัตกรรมการผลิต ส่งผลให้สินค้าของไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่จะขยายตัวขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการส่งออกสินค้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 ที่หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอาเซียน ที่ยังชะลอตัว 2) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 3) หลายประเทศใช้มาตรการลดค่าเงินทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้า และ 4) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี เพื่อให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 58 สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ควรมุ่งเน้นการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น ควบคู่กับการรักษาตลาดส่งออกหลัก เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การส่งออกในปี 58 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ -1.8 ถึง 2.2 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58 ) และจะการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ลดการผลิตน้ำมัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตของทุกภาคส่วนลดลง และยังช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 58 จนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปรับลดลงประมาณร้อยละ -44.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และระดับราคาเฉลี่ยในเดือน ก.ค. 58 ได้ปรับลดลงร้อยละ -12.1 จากเดือนก่อนหน้า ดังนั้น ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามปริมาณการผลิตที่มากกว่าการบริโภค ซึ่งจากการคาดการณ์ของ EIA พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 58 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกประมาณวันละ 95.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่มีปริมาณการบริโภคประมาณวันละ 94.3 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ภายหลังจากการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิหร่าน จะเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบโลกประมาณ 5 แสนบาร์เรลต่อวันภายในเดือน มิ.ย. 59 และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปี 59 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่ง สศค. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257