รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 24, 2015 11:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 56,942 คัน ลดลงร้อยละ-18.3

2. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.2

3. ยอดการส่งออกญี่ปุ่น เดือน มิ.ย. 58 ขยายได้ดีต่อเนื่อง

1. ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 56,942 คัน ลดลงร้อยละ-18.3
  • ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 56,942 คัน ลดลงร้อยละ -18.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -35.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -4.5 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์รวมในช่วงครึ่งแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -15.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -16.7 และ -15.3 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 56 ภายหลังมาตรการรถคันแรกจบลง อีกทั้งรายได้ของครัวเรือนและธุรกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเกตรกรรมที่ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตามไปด้วย ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ทำให้ครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภค และทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ การเร่งบริโภคในช่วงโครงการรถคันแรกทำให้ความต้องการรถใหม่ในกลุ่มผู้บริโภครถเล็กจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเนื่องจากได้บริโภครถไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
2. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และหากพิจารณาเป็นรายไตรมาสพบว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค MERS ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยในครึ่งแรกของปี 58 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนมีสาเหตุสำคัญมาจาก การแพร่ระบาดของโรค MERS ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวในแง่ของความเชื่อมั่นของนักเดินทางชาวต่างชาติ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 2 ปี 58 หดตัวถึงร้อยละ -7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ให้หดตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 58 สะท้อนจากการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 2 ปี 58 หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ในปี 58 ในเดือน มิ.ย. 58 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
3. ยอดการส่งออกญี่ปุ่น เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นสู่ร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ ยุโรป สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในเอเชีย ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 58 ยังคงหดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำเป็นหลัก โดยยอดการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าการนำเข้าส่งผลให้การขาดดุลการค้าในเดือนดังกล่าวปรับลดลง โดยขาดดุลเพียง -6.9 พันล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลทำให้สินค้าส่งออกญี่ปุ่นมีความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านราคา อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวญี่ปุ่นซึ่งสะท้อนถึงการส่งออกภาคบริการยังคงขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 51.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ปี 58 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 ยังมีข้อจำกัดสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตอาทิ (1) การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระดับสูง (2) ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน และ (3) การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ