รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2558 “เศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยมีแรงส่งในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีและนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล”
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2558 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยมีสาเหตุหลักจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาขนส่งและคมนาคม ขยายตัวได้ดีตามมา นอกจากนี้ นโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลและการใช้จ่ายนอกงบประมาณเพิ่มเติมที่สำคัญ ได้แก่ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน คาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น และอาจกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าโดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกัน จากแรงสนับสนุนของโครงการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคส่งออกของไทย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 มีทิศทางปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.1 ถึง -0.1) จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้า และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 20.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 – 6.7 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ตามการเกินดุลบริการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความรวดเร็วของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร”
ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 (ณ เดือนกรกฎาคม 2558)
2557 2558 f
(ณ กรกฎาคม 2558)
เฉลี่ย ช่วง
สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 15 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี) 3.6 3.6 3.1 – 4.1 2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) 96.6 60.0 50.0 - 70.0 3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -1.0 -1.6 -2.6 ถึง -0.6 4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -1.9 -6.7 -7.7 ถึง -5.7 สมมติฐานด้านนโยบาย 5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) 32.49 33.95 32.95 - 34.95 6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละ) 2.00 1.50 1.25 - 1.75 7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท) 3.20 3.42 3.22 – 3.62 8) จำนวนนักท่องเที่ยว (ล้านคน) 24.8 29.9 28.9 - 30.9
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี) 0.9 3.0 2.5 - 3.5 2) อัตราการขยายตัวของการบริโภค - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 0.6 1.4 0.9 – 1.9 - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 1.7 2.8 2.3 - 3.3 3) อัตราการขยายตัวของการลงทุน - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) -2.0 1.4 0.4 - 2.4 - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) -4.9 19.6 17.6 – 21.6 4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 0.0 1.0 0.0 ถึง 2.0 5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) -5.4 1.2 0.2 ถึง 2.2 6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 24.6 26.5 18.0 – 35.0 - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -0.3 -4.0 -6.0 ถึง -2.0 - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -8.5 -5.5 -7.5 ถึง -3.5 7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 13.1 20.5 12.0 - 29.0 - ร้อยละของ GDP 3.2 5.1 2.9 - 7.0 8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(ร้อยละต่อปี) 1.9 -0.6 -1.1 ถึง -0.1 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี) 1.6 0.8 0.3 - 1.3 9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม) 0.8 0.8 0.7 - 0.9
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2558
เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยมีสาเหตุหลักจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาขนส่งและคมนาคม ขยายตัวได้ดีตามมา นอกจากนี้ นโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลและการใช้จ่ายนอกงบประมาณเพิ่มเติมที่สำคัญ ได้แก่ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน คาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น และอาจกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 ถึง 2.0) ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคส่งออกของไทย อาทิ ค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้น ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต และการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 – 3.3) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 17.6 – 21.6) อันเป็นผลมาจากนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 ประกอบกับแผนการใช้จ่ายนอกงบประมาณเพิ่มเติมที่จะมีส่วนสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐยังถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 1.9) โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยลดภาระการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกันมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 - 2.4) จากแรงสนับสนุนของโครงการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับการเร่งอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีเม็ดเงินบางส่วนเริ่มลงทุนจริงในปีนี้ สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.2 - 2.2) สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 มีทิศทางปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.1 ถึง -0.1) จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 – 0.9 ของกำลังแรงงานรวม) ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 7.0 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ตามการเกินดุลบริการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 26.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 18.0 – 35.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้า โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2558 จะหดตัวร้อยละ -5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -7.5 ถึง -3.5) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ –6.0 ถึง -2.0)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255
--กระทรวงการคลัง--