รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 28, 2015 13:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์เผยส่งออกมิ.ย.58 หดตัวร้อยละ 7.87 นำเข้าหดตัวร้อยละ 0.21

2. ครี่งปีแรกค้าปลีกโตแค่ร้อยละ 2.8

3. สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในเดือนมิ.ย. 58

1. พาณิชย์เผยส่งออกมิ.ย.58 หดตัวร้อยละ 7.87 นำเข้าหดตัวร้อยละ 0.21
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย. 58 มีมูลค่า 18,162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -7.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 18,012 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ -0.21 ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือน มิ.ย. 58 เกินดุล 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ -7.9 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าหลักของไทยที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรโลกที่ปรับตัวลดลงมาก รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ยังคงชะลอตัวเช่นกัน และถ้าหากพิจารณาด้านมิติสินค้า พบว่าหดตัวทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -7.7 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ทั้งนี้ สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -0.3 และ -6.9 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.9 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 58 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.2 ตามการขยายตัวของสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -7.9 โดยสศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 และคาดว่ามูลค่านำเข้าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.9 (คาดการณ์ ณ วันที่ 28 ก.ค. 58) ในเดือน มิ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ -7.9
2. ครี่งปีแรกค้าปลีกโตแค่ร้อยละ 2.8
  • สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 58 ในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมค้าปลีกเติบโตเพียงร้อยละ 2.8 อย่างไรก็ตาม สมาคมฯคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง การเติบโตจะมีทิศทางที่ยังไม่สดใสนัก ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาลยังไม่สัมฤทธิ์ผล ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องของหนี้ครัวเรือน รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในครึ่งปีแรกโดยส่วนใหญ่ขยายตัวได้ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 10.8 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 3.9 และปริมาณการนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคขยายตัวได้ร้อยละ 6.3 ขณะที่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน อาทิ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -20.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งบริโภคในช่วงนโยบายรถคนแรก และปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กอปรกับปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ประชาชนขาดรายได้ จึงทำการชะลอการบริโภคออกไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของครึ่งปีหลัง รัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งการลงทุน และการบริโภค ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 (คาดการณ์ ณ วันที่ 28 ก.ค. 58)
3. สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในเดือนมิ.ย. 58
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. 58 จากที่ลดลง 2 เดือนติดต่อกันก่อนหน้า โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 (%mom) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.7 โดยได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ในเครื่องบิน ขณะที่ภาคธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำจะเอื้อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายในปี 2558 นี้ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี่ ในปี 58 สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (คาดการณ์ ณ วันที่ 28 ก.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ