Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2558
1. ก.เกษตร-ท่องเที่ยวฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร
2. ไทย-ลาวผนึกกำลังชูจุดแข็งการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวดึงดูดต่างชาติลงทุน AEC
3. มาเลเซียเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.3
- นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จับมือกระทรวง69024 เกษตรและสหกรณ์ เปิดตัวการท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อการกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตรและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มต้นที่การท่องเที่ยวเพื่อเป็นจุดเน้นในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้มาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นพระเอกของการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงนี้ โดยพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 นี้ (ม.ค. - มิ.ย.) มีจำนวน 14.9 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 29.5 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวอาจกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักมากเกินไป ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในเมืองเหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ดังนั้น การส่งเสริมแคมเปญด้านการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยววิถีไทย ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเกษตรให้กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จะเป็นทางเลือกของการท่องเที่ยวไทยในรูปแบบใหม่ๆ แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยให้กระจายออกจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก อีกทั้งยังเป็นก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังท่องถิ่นจากการจำหน่ายสินค้า ผลผลิตสด ผลิตภัณฑ์แปรรูป หัตถกรรม และศิลปประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ทางอื่นที่เป็นรายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย และยังเป็นช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้นได้
- พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "การเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน" ในงานสัมมนา "เขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-สปป.ลาว โอกาสการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว" ว่า ลาวกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ใช้โอกาสวางโรดแมพ (Roadmap)ด้านเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญลำดับต้นกับการพัฒนายกระดับการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สปป.ลาว
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยัง สปป.ลาว เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ 15 ของการส่งออกของไทย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 ไทยส่งออกไปยังประเทศลาวมีมูลค่าทั้งสิ้น 68,141.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.7 ดังนั้นการสร้างความร่วมมือระหว่างกันของสองประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) จะเป็นส่วนช่วยให้บรรยากาศการค้าขายระหว่างกันเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการส่งออกของไทยซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้ กอปรกับรัฐบาลได้ใช้โอกาสนี้วางโรดแมพ (Roadmap)โดยให้ความสำคัญลำดับต้นกับการพัฒนายกระดับการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มเป็นทางการในปลายปี 58 นี้ และเตรียมความพร้อมต่อการดึงดูดคู่ค้าผู้ลงทุนจากภูมิภาคอื่นให้เข้ามาสู่เออีซี เพราะเออีซีจะเป็นตลาดและฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง และที่สำคัญจะเป็น Gateway ที่เชื่อมโยงเออีซีกับภูมิภาคและตลาดหลักโดยรอบ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ตลอดจนตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของมาเลเซียเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปี เนื่องจากได้แรงหนุนจากกิจกรรมภาคเหมืองแร่และภาคการผลิต เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. 58 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.5
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากการขยายตัวต่อเนื่องของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนถึงถาคการผลิตที่แข็งแกร่ง สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 58 ที่ขยายตัวร้อยละ5.0 อย่างไรก็ตาม อุปสงค์สินค้าจากต่างประเทศยังไม่ดีนัก สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าเดือน มิ.ย. 58 ที่หดตัวร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของเงินริงกิตจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ จึงส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ดี และเนื่องจากภาคการผลิตของมาเลเซียมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19.6 ของ GDP ปี 56 การขยายตัวดังกล่าวสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี นอกจากนี้ในด้านการบริโภค แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ก็ยังคงอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับการบริโภคภายในประเทศ และคาดว่า GDP ไตรมาสที่ 2/58 ที่จะมีการประกาศในวันที่ 13 ส.ค. 58 นี้จะขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยูที่ร้อยละ 5.6 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 58 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.8 ปรับลดลงจากเดือน เม.ย. 58 ที่ร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ ก.ค.58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257