รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 7 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 11, 2015 15:31 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • วันที่ 5 ส.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย.58 เกินดุล 893.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมิ.ย.58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ-8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 62.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9
  • การส่งออกในเดือน มิ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -7.9 ขณะที่การนำเข้าในเดือน มิ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.2
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย.58 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย.58 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP อินโดนีเซีย ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.7
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.3

Indicator next week

Indicators                Forecast   Previous
July : Cement Sale (%YOY)   -0.4        3.1
  • เนื่องจากภาคเอกชนยังคงรอดูแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทิศทางของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
Economic Indicators: This Week
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย.58 เกินดุล 893.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,126.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงอย่างมากที่ 1,988.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่เกินดุล 4,151.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวในระดับสูง ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ลดลง และปัจจัยด้านอุปสงค์จากเอเชียและยุโรปที่ชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้ายังคงทรงตัวในระดับต่ำจากปัจจัยด้านราคา ตลอดจนการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ 1,094.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างประเทศในไทย อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งแรกของปี 58 ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลทั้งสิ้น 12,322.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย.58 มียอดคงค้าง 15.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -1.5 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่สินเชื่อบริโภคขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.2
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย.58 มียอดคงค้าง 16.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการเร่งขึ้นของเงินฝากส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับยอดเงินฝากของเดือนก่อนหน้าจะเห็นว่าอัตราการขยายตัวทรงตัวในระดับต่ำ สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมิ.ย.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ-8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และแอร์ ตู้เย็น พัดลม ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.5
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.1 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 58 ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และ 6 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงหดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่หดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า
Economic Indicator: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 62.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 63.8 ลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ที่มีปัจจัยลบจากการส่งออกที่ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าทางการเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 อยู่ที่ระดับ 66.1 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 57 ที่ผ่านมา
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 58 มีจำนวน 131,672 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -27.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังจากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว โดยเป็นการหดตัวทั้งยอดจำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตชนบท โดยเขตกรุงเทพฯ มียอดจำหน่ายหดตัวร้อยละ -20.5 และเขตชนบทหดตัวร้อยละ -24.0 ผลจากรายได้ภาคเกษตรกรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนยังคงชะลอการบริโภคออกไป กอปรกับการเร่งการบริโภครถจักรยานยนต์ในเดือนการหน้า จากโปรโมชั่นของผู้จัดจำหน่าย ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 7 เดือนแรกของปี 58 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3
  • วันที่ 5 ส.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่า การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่านโยบายการเงินยังคงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
  • การส่งออกในเดือน มิ.ย. 58 มีมูลค่า 18,161.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.0 จากการ หดตัวทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -7.7 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.9 และ -7.7 ตามลำดับ ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -5.0 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.7 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -6.3
  • การนำเข้าในเดือน มิ.ย. 58 มีมูลค่า 18,011.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -20.0 จากการกลับมาขยายตัวเป็นบวกของสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ร้อยละ 2.7 และ 5.1 รวมถึงสินค้ายานยนต์ที่ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.0 ในขณะที่ สินค้าวัตถุดิบและสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวที่ร้อยละ -0.8 และ -7.1 ตามลำดับ ส่งผลให้การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -9.4 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -9.5 และปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 58 เกินดุล 0.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Economic Indicator: This Week
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 58 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -5.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.6 ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของเดือน ก.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -15.9 เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลง
  • การจ้างงานเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 38.1 ล้านคน หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปี ส่งผลให้จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมลดลงถึง 1.02 ล้านคน ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.8 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพื่มขึ้นมาจากสาขาการก่อสร้าง สาขาการผลิต สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการศึกษา เป็นต้น ในขณะที่ อัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย.58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,684.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.4 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 2.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 98.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 94.0ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน ก.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี เนื่องจากภาคเอกชนยังคงรอดูแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทิศทางของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่เร่งขึ้น ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 58 ขาดดุล 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าส่งออกหดตัวร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าทุนที่หดตัว ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -0.9 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าทุนที่หดตัวเช่นกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนจากดัชนีย่อยด้านราคาและคำสั่งซื้อค้างรับ ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 60.3 จุด สูงสุดในรอบ 10 ปีจากดัชนีย่อยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมาก ที่ประชุม FOMC เมื่อ 28-29 ก.ค. 58 ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ลดลงจาก 50.2 จุด ในเดือนก่อน ดัชนีฯ ภาคบริการ (NBS) อยู่ที่ระดับ 53.9 จุด เพิ่มขึ้นจาก 53.8 จุด ในเดือนก่อน เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด ลดลงจาก 49.4 จุด ในเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (Caixin) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จุด สูงที่สุดในรอบ 11 เดือน

Eurozone: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดต้วร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการชะลงลงในทุกหมวดสินค้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 53.9 จุด ทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยมีสัญญาณการขยายตัวทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ด้วยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 52.4 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 54.0 จุด

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.2 จุด สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นในระดับสูง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดสินแร่และเชื้อเพลิงซึ่งเป็นผลจากราคาเป็นหลัก ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.98 พันล้านริงกิต

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 จากอาหารและเครื่องใช้ไฟฟ้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากราคาอาหารที่ทรงตัว

Philippines: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากราคาอาหารที่ลดลง

United Kingdom: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 51.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีฯ ภาคก่อสร้างลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 57.1 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการ ลดลงมาอยู่ที่ 57.4 จุด อย่างไรก็ดี ยังจัดว่าอยู่ในระดับสูง

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด จาก 50.4 จุดในเดือนก่อน จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ -2.4 ในเดือนก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ด้านมูลค่านำเข้า เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -15.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ -13.6 ในเดือนก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 58 เกินดุล 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เร่งขึ้น

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -4.6 ในเดือนก่อน ด้านมูลค่านำเข้า เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -4.7 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 58 ขาดดุล 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3

Australia: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน มิ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่หดตัว ขณะที่การส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัว มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.4 จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าขั้นกลาง ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนหดตัว ดุลการค้าขาดดุล 1,597 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายเครื่องใช้ในครัวเรือนและร้านอาหารที่เร่งขึ้นอัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน อยู่ที่ร้อยละ 65.0 ของประชากรวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 6 ส.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,430.58 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเบาบางเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เพียง 33,770 ล้านบาท ผลจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง กดดันให้หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเกษรปรับตัวลดลง และปัจจัยกระทรวงพาณิชย์ปรับลดลงคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกไทยทั้งปี 58 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ -3.0 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3-6 ส.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,303.2 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ 1-5 bps โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 58 กนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี และมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 เดือนและพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน 6 เดือนที่ได้รับความสนใจ 3.0 1.9 และ 1.5 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3-6 ส.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 2,320.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 6 ส.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 35.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ 0.98 จากสัปดาห์ก่อน เป็นในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยน ยูโร ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ จากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.69 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ