Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2558
1. ธปท.เผยไตรมาส 2 ปี 58 สินเชื่อระบบแบงก์พาณิชย์โตร้อยละ 4.6 ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1
2. แนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 58 มีโอกาสปรับลดลง
3. ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดค่าเงินหยวนเป็นครั้งที่สอง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 58 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพสินเชื่อทรงตัว โดยขยายตัวได้ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปี 58 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี นั้น มาจากการขยายตัวของสินเชื่อในภาคธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ ด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า จากการชำระคืนหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี โดยขยายตัวได้ดีในสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 58 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 311.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 13.3 พันล้านบาท จากธุรกิจในภาคพาณิชย์ ภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ขนาดเล็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการดูแลและติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งเงินสำรองและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ชะลอตัวลง สะท้อนถึงเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง
- แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเปิดเผยว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 58 มีโอกาสปรับลดลงแค่ 5-6 สต./หน่วย จากเดิมเคยประมาณการไว้ที่9.4สต./หน่วยเนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะอ่อนค่าต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรลจนราคาก๊าซธรรมชาติลดลงตามไปด้วยแต่ยังมีปัจจัยหลักจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมากเฉลี่ยมาอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในขณะที่ค่าเงินบาทที่ใช้คำนวณค่าเอฟทีงวดก่อนยังอยู่ที่33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
- สศค. วิเคราะห์ว่า พลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาพลังงานไฟฟ้าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าและบริการในภาพรวม โดยราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของตระกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง โดยในเดือน ก.ค. 58 ราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างปรับลดลงร้อยละ -3.2 ต่อปี ซึ่งส่งผล ช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 ราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวปรับลดลงร้อยละ -1.0 ต่อปี ดังนั้น การที่ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 58 มีแนวโน้มปรับลดลง จะเป็นหนึ่งในแรงกดดันให้ราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างปรับลดลง นอกจากนี้ อาจจะมีส่วนให้ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ปรับลดลงตาม ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 มีทิศทางปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.1 ถึง -0.1) จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดค่าเงินหยวนอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อวานนี้ (12 ส.ค. 58) หลังจากได้ประกาศลดค่าเงินหยวนอ้างอิงประจำในวันก่อนหน้า (11 ส.ค. 58) ทำให้ค่ากลางของเงินหยวนลดลง 4% ในสองวันนี้ ทำให้อัตราอ้างอิงรายวันเงินหยวนของจีนต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 6.3306 หยวนจาก 6.2298 หยวนของวันก่อนหน้านี้ ซึ่งมากที่สุดในรอบทศวรรษนับจากยกเลิกการผูกค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 โดยให้เหตุผลว่า ต้องการลดการควบคุมเงินหยวนและปรับค่าเงินให้สอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เงินหยวนแข็งค่ากว่าพื้นฐานที่แท้จริง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลดค่าเงินของรัฐบาลจีนส่วนหนึ่งต้องการรักษาค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ และช่วยกระตุ้นการส่งออก โดยจากข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.ค. 58 การส่งออกของจีนหดตัวสูงถึงร้อยละ - 8.3 ต่อปี ซึ่งค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของจีน ที่ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 58 ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 58 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257