Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2558
Summary:
1. ปรับราคาค่าโดยสาร
2. "พาณิชย์" คาดลดค่าหยวนดีต่อส่งออกไทย
3. นักลงทุนเชื่อมั่นเตรียมลงทุนกลุ่มพลังงาน
1. ปรับราคาค่าโดยสาร
- อธิบดีกรมเจ้าท่าเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันที่จะปรับลดค่าเรือโดยสาร เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบระยะละ 1 บาท โดยจะนำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค. ส่วนเรือข้ามฟาก จะไม่มีการปรับลดราคา เนื่อง จากเป็นเรือที่วิ่งระยะสั้น ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่คือค่าแรงงาน ไม่ใช่น้ำมันดีเซล ด้านรองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับลดราคาค่าโดยสารสำหรับรถหมวด 2 หรือรถ บขส. และรถร่วมบริการ ลง 3 สต. ต่อ กม. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.58 เป็นต้นไป ส่วนรถประเภทอื่นยังให้คงราคาเดิม
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาค่าโดยสารสาธารณะมีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีจากการปรับค่าโดยสารแท๊กซี่ รถเมล์ร่วมบริการ รถสองแถว และเรือโดยสาร เนื่องจากในช่วงต้นปีมีการปรับราคาโครงสร้างพลังงานและปรับโครงสร้างราคาของค่าโดยสารหลายประเภท อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลคงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ รมว. คมนาคม มีแนวคิดให้มีการปรับราคาค่าโดยสารลดลง ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว หากมีการปรับลดค่าโดยสาร ก็อาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกำลังซื้อที่มากขึ้น และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้จากอุปสงค์ที่มากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี คาดว่าผลดังกล่าวอาจจะน้อยมากจนอาจถูกผลด้านอื่นบดบังไป เนื่องจากราคาค่าโดยสารมีสัดส่วนน้ำหนักในปีฐานของตะกร้าเงินเฟ้อเพียงแค่ ร้อยละ 2.15 การลดลงของราคาจึงอาจส่งผลต่อการลดลงของค่าใช้จ่ายรวมไม่มากนัก
2. "พาณิชย์" คาดลดค่าหยวนดีต่อส่งออกไทย
- อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังจากที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวนลง 3 ครั้ง รวมร้อยละ 4.6 ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เงินหยวนอ่อนค่าครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อภาคส่งออกไทย เพราะจีนจะนำเข้าสินค้าขั้นต้น และขั้นกลางจากไทยไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น แต่ยังไม่ปรับแผนส่งออก โดยยังคงเป้าการส่งออกปี 58 ติดลบร้อยละ 3
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวน คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากหากเปรียบเทียบค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กับค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ อ่อนค่า ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าหลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกในปี 57 ที่ร้อยละ 11.0 ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินหยวนจะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทย เช่น ยางพารา เพราะการลดค่าเงินหยวนลงจะทำให้การส่งออกของจีนขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของจีน ซึ่งจีนนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกในขณะที่ สินค้าที่ไทยส่งไปจีนเพื่อการบริโภคอาจได้รับผลระทบจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากำลังซื้อของคนจีนนั้นมีอำนาจมากกว่าราคาสินค้าที่สูงขึ้น จึงไม่น่าส่งผลกระทบที่ร้ายแรงมากนัก
3. นักลงทุนเชื่อมั่นเตรียมลงทุนกลุ่มพลังงาน
- มอร์แกนสแตนเลย์วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ มองทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานใกล้จุดต่ำสุด และมองว่าถึงจุดน่าลงทุนท่ามกลางขาลงของราคาน้ำมัน นายอดัม พาร์คเกอร์ หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์ตลาดทุนสหรัฐฯ ของมอร์แกนสแตนเลย์ให้เหตุผล 4 ประการเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ได้แก่ ประการแรก กลุ่มพลังงานมักจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากขาลงที่รุนแรง ประการที่สอง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะเห็นจุดต่ำสุดช้ากว่าที่เกิดขึ้นจริง ประการที่สาม อัตรส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีของกลุ่มพลังงานในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี และประการที่สี่ การลดลงของแท่นขุดเจาะที่รวดเร็ว
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะกำหนดทิศทางของตลาดน้ำมันคือ การบริโภคจากจีนซึ่งชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจและยากที่จะกลับไปเติบโตในระดับสูงได้เช่นในอดีต นอกจากนี้ ค่าเงินหยวนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อของจีนลดน้อยลงไปอีก กล่าวคือ จีนไม่สามารถที่จะเป็นผู้เล่นที่แข็งแรงในการสร้างอุปสงค์เพื่อการฟื้นตัวในตลาดน้ำมันได้ คาดว่าอุปสงค์ที่มีต่อน้ำมันจะชะลอการเติบโตลงจากในอดีต ด้วยเหตุนี้ ข้อสรุปของมอร์แกนสแตนเลย์อยู่บนรากฐานการวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีตในวันที่จีนและยุโรปยังคงแข็งแรงอาจมีโอกาสผิดพลาด เพราะ อุปสงค์ในระยะข้างหน้าจะไม่ฟื้นตัวในเร็ววันดังเช่นในอดีต ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจทำให้มอร์แกนสแตนเลย์ผิดในการคาดการณ์การฟื้นตัวยังไม่ได้รวมถึงการเปลี่ยนไปของสภาพแวดล้อมตลาดน้ำมันที่อยู่ในช่วงการผลิตล้นเกินต่อเนื่องจากทุกๆ ผู้เล่นสำคัญดังเช่นทุกวันนี้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เป็น แรงกดดันต่อราคาน้ำมันอีกทางหนึ่ง สศค. มองว่าตลาดน้ำมันจะยังคงซึมยาวไปจนถึงปีหน้า และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของราคามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ความน่าลงทุนของกลุ่มพลังงานสหรัฐฯ ยังคงถูกกำหนดจากอีกหลายปัจจัยนอกเหนือไปจากราคาซึ่งอาจทำให้บริษัทมีความน่าลงทุนเฉพาะตัว
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257