รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2015 15:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2558

Summary:

1. หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 42.36 ของ GDP

2. ธนาคารกลางจีนปรับลดค่าเงินหยวนต่อเนื่อง ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าร้อยละ 4.7 ในช่วง 3 วัน

3. เศรษฐกิจมาเลเซีย ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.9

1. หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 42.36 ของ GDP
  • นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษก สบน. เปิดเผยยอดหนี้สาธารณะคงค้างของไทย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 5.684 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.36 ของ GDP ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 5.687 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 42.58 ของ GDP โดยหนี้สาธารณะในเดือนดังกล่าวแบ่งเป็นหนี้ระยะยาวมูลค่า 5.572 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 98.03 ของหนี้สาธารณะรวม และหนี้ระยะสั้น 0.112 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 1.97 ของหนี้สาธารณะรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 58 ที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากยอดหนี้รัฐวิสาหกิจคงค้างที่ลดลง โดยรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 2.810 พันล้านบาท เนื่องจากการชำระคืนเงินต้นที่กู้ในประเทศที่สูงกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อเช่าซื้อเครื่องบินแอร์บัส 777-300ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน(รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 6.385 พันล้านบาท เนื่องจากการชำระคืนเงินต้นที่มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะการไถ่ถอนพันธบัตรเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดของธนาคารอาคารสงเคราะห์และการชำระหนี้เงินต้นที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าวโดยใช้เงินจากการระบายข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP สะท้อนสถานะหนี้สาธารณะที่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
2. ธนาคารกลางจีนปรับลดค่าเงินหยวนต่อเนื่อง ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าร้อยละ 4.7 ในช่วง 3 วัน
  • ในช่วงวันที่ 11-13 ส.ค. 58 ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน ทำให้เงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ -4.7 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่หดตัวในเดือน ก.ค. 58 กว่าร้อยละ -8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้การส่งออกจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -0.6 โดยภายหลังการปรับลดค่าเงินหยวน ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยดัชนีดาวน์โจนส์ STOXX50 และดัชนี SETลดลงร้อยละ -1.2 -4.4 และ -1.1 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับลดลงดังกล่าว เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ และความกังวลว่าจีนกำลังเข้าสู่สงครามค่าเงิน ถึงแม้ว่าภายหลังการประกาศดังกล่าว เงินสกุลอาเซียนยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามเงินหยวน โดยเมื่อเทียบับวันที่ 10 ส.ค. 58 เงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 0.25 เงินรูเปียะห์อินโดนีเซียอ่อนค่าลงร้อยละ 1.6 และเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ผลกระทบของการลดค่าเงินหยวนดังกล่าวต่อไทยสามารถจำแนกได้เป็น 2 ช่องทางสำคัญ ได้แก่ 1) ช่องทางการค้า โดยผลกระทบในทางตรงสำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ 5 อันดับแรก ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตและส่งออกต่อ จะได้รับผลบวกเมื่อการส่งออกจีนดีขึ้นในอนาคต ขณะที่สินค้าที่ไทยส่งไปจีนเพื่อการบริโภคอาจได้รับผลระทบจากค่าเงินหยวนที่อ่อนลงเร็ว ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางการจีนมีนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ผลกระทบในส่วนนี้อาจไม่รุนแรงนัก 2) ช่องทางการท่องเที่ยว ในระยะสั้นน่าผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากมีประชากรจีนจำนวนมากที่ยังมีศักยภาพที่จะเดินทางมาไทย อย่างไรก็ตาม หากทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวนลงอีกอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวได้ในที่สุด จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
3. เศรษฐกิจมาเลเซีย ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.9
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย ประกาศตัวเลข GDP มาเลเซีย ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสแรก จากภาคส่งออกที่หดตัวเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจมาเลเซียครึ่งแรกปี 58 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องจากการลงทุนและการส่งออกที่ซบเซาอีกทั้งภาคการเงินผันผวน ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจมาเลเซียซึ่งมีสัดส่วนการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง อัตราการเปิดประเทศที่ร้อยละ 142.9 ของ GDP โดยภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.1 ของ GDP (ข้อมูลปี 57) และจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของมาเลเซีย ด้วยสัดส่วนร้อยละ 12.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม (ข้อมูลปี 57) ทำให้การส่งออกสินค้าของมาเลเซียในช่วงครึ่งแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -3.1 ปัจจัยดังกล่าวเป็นข้อจำกัดทางการเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซีย นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองภายในประเทศและเงินริงกิตที่อ่อนค่าต่อเนื่องยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย เป็นแรงกดดันที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในช่วงครึ่งหลังปี 58 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ