Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2558
1. สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 2/58 โตร้อยละ 2.8
2. สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือโตร้อยละ 2.7-3.2 จากเดิมคาดร้อยละ 3-4
3. รมว.เศรษฐกิจญี่ปุ่นชี้ GDP หดตัวใน Q2 เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 (%qoq_sa) ซึ่งหากพิจารณาองค์ประกอบของการเติบโตเศรษฐกิจไทยพบว่า ด้านการใช้จ่ายเติบโตมาจากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 24.7 นอกจากนี้ สาขาอื่นๆ ที่เป็นแรงสนับสนุน คือ การบริโภคภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว ร้อยละ 4.6 และ 1.5 ตามลำดับ ในขณะที่ ด้านการผลิตพบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตมาจากภาคบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและคมนาคม และตัวกลางทางการเงินที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 18.7 8.6 และ 8.6 ตามลำดับ ในขณะที่ การผลิตนอกภาคเกษตรชะลอตัวลงจากการผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -0.7 ส่วนผลผลิตภาคเกษตรก็หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -5.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ยังถือว่ายังคงเป็นการขยายตัวอย่างเปราะบาง
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 58 เหลือโตร้อยละ 2.7-3.2 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3-4 หลังมองว่าการส่งออกในปีนี้จะติดลบถึงร้อยละ -3.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 0.2 และการนำเข้าจะติดลบร้อยละ -5.5 จากเดิมคาดเติบโตร้อยละ 0.8 ขณะที่ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 58 เป็นติดลบร้อยละ -0.7 ถึง -0.2 จากเดิมคาดว่าจะติดลบร้อยละ -0.3 ถึง 0.7
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ของ สศช. เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ สศค. ได้ปรับลดการประมาณการลงเมื่อปลายเดือน ก.ค. 58 ที่ผ่านมา โดย สศช. คาดว่า GDP ปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 - 3.2 หรือมีค่ากลางที่ขยายตัวร้อยละ 2.95 ถือว่าใกล้เคียงกับที่ สศค. คาดไว้ โดยสศค. คาดว่า GDP ปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5) โดยมีสาเหตุหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาขนส่งและคมนาคม ขยายตัวได้ดีตามมา นอกจากนี้ นโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลและการใช้จ่ายนอกงบประมาณเพิ่มเติม คาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น และอาจกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน (Crowding-in) อีกทั้งอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายตามการอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนจับจ่ายใช้สอย และลงทุนมากขึ้นได้ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ -0.6
- นายอากิระ อามาริ รัฐมนตรียเศรษฐกิจและนโยบายการคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นหดตัวลงในไตรมาส 2 นั้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยชั่วคราว ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของยอดส่งออกและการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ นายอามาริคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวในระดับปานกลาง และยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังประเทศจีน
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2/58 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักปัจจัยทางฤดูกาล และขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีภาคอุปทานที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/58 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.3 จุด ซึ่งถือว่าเกินกว่าระดับ 50 จุด รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 2558 ขยายตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 48.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ด้านอุปสงค์ในประเทศเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน สะท้อนจากยอดค้าปลีกในไตรมาส 2 ปี 2558 กลับมาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ในช่วงเริ่มต้นไตรมาสที่ 3/58 อุปสงค์ภายในประเทศยังคงมีความเปราะบางอยู่ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 58 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.0 จาก 42.4 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาระหนี้สินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 (1 เม.ย. 57 - 31 มี.ค. 58) ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 216 ของ GDP เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม เนื่องจากอาจมีมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257