Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2558
1. พาณิชย์ยืนยัน เวียดนามลดค่าเงินไม่กระทบส่งออกไทย
2. ESM อนุมัติเงินช่วยเหลืองวดแรกแก่กรีซ 26 พันล้านยูโร โดยเบิกจ่ายทันที 13 พันล้านยูโร
3. ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.2
- นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่เวียดนามประกาศลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 1.0 ว่า เป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศเวียดนาม และหากเทียบค่าเงินบาทถือว่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้วิตกกังวลไปว่าจะเกิดปัญหาสงครามค่าเงินในประเทศอาเซียนและระดับภูมิภาค เพราะการลดค่าเงินหรือไม่นั้นต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมหลายด้านประกอบกันโดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นๆ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่าเงินด่องในวันที่ 19 ส.ค. 58 นั้น เป็นการปรับเพื่อให้ค่าเงินด่องเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกลไกตลาด หลังจากที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนามซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 10.4 ของมูลค่าการส่งออก (ข้อมูลปี 57) ทำให้เงินด่องในขณะนี้อ่อนค่าลงร้อยละ 3.0 จากต้นปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเอื้อการส่งออกของเวียดนามให้ขยายตัวได้ในระดับดีต่อเนื่อง โดยยอดการส่งออกเวียดนามช่วง 7 เดือนแรกยังขยายตัวเฉลี่ยที่ ร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ผลต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าการลดค่าเงินด่องจะส่งผลกระทบในวงจำกัด อีกทั้งเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 58 ยังอ่อนค่าลงมากกว่าเงินด่อง โดยอ่อนค่าถึงร้อยละ 7.9 ทำให้สินค้าส่งออกของไทยยังคงมีความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงปี 55-57 เวียดนามได้รับ FDI รวมแล้วกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่า FDI ของไทยในช่วงเวลาเดียวกัน (4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งที่ผ่านมา FDI จากต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าส่งออก เป็นดัชนีชี้นำ (Leading indicators) ของการขยายตัวของภาคการส่งออก จึงเป็นที่ต้องจับตามองเวียดนามในฐานะคู่แข่งของภาคการส่งออกไทยต่อไป
- วันที่ 20 ส.ค. 58 คณะกรรมการบริหารของกลไกลการเงินเพื่อเสถียรภาพยุโรป (ESM) ได้อนุมัติเงินช่วยเหลืองวดแรกให้แก่กรีซวงเงิน 26 พันล้านยูโร จากแผนเงินช่วยเหลือทั้งหมด 86 พันล้านยูโรระยะเวลา 3 ปีที่ได้รับอนุมัติเมื่อวานนี้ โดยเงินงวดแรกจะแบ่งเบิกจ่าย 2 ครั้งคือ 16 พันล้านยูโรและ 10 พันล้านยูโร ทั้งนี้ ESM ได้เบิกจ่ายเงินครั้งแรกทันที 13 พันล้านยูโรเพื่อใช้ชำระหนี้ภาครัฐ และอีก 3 พันล้านยูโรจะเบิกจ่ายภายในเดือน พ.ย. 58 หากการดำเนินการของกรีซมีความคืบหน้า ส่วนในงวดที่สองเป็นเงินจำนวน 10 พันล้านยูโร จะใช้สำหรับการรักษาเสถียรภาพของภาคธนาคารและสถาบันการเงิน ทั้งนี้ การช่วยเหลือกรีซในครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเหลือครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การอนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จภายหลังรัฐสภาเยอรมนีลงมติเสียงข้างมาก 454 เสียงต่อ 113 เสียงยอมรับมาตรการให้เงินช่วยเหลือแก่กรีซเมื่อคืนของวันที่ 19 ส.ค. 58 (ตามเวลาเยอรมนี) ที่ผ่านมา ทำให้ ESM อนุมัติเงินช่วยเหลือในวันนี้ โดยรัฐบาลกรีซเลือกใช้จ่ายเงินที่ได้รับความช่วยเหลือในงวดแรกจำนวน 3.2 พันล้านยูโรเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ครบกำหนดในวันนี้เป็นอันดับแรก ทั้งนี้คาดว่าการให้เงินช่วยเหลือแก่กรีซจะช่วยบรรเทาสถานการณ์หนี้สาธารณะของยุโรปออกไปอีก 3 ปี ทั้งนี้ คาดว่าปี 58 นี้ เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 58)
- สำนักงานสถิติสหราชอาณาจักรเปิดเผย ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของหมวดร้านค้าและเครื่องใช้ภายในบ้าน ขณะที่ยอดขายในหมวดเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และสถานีบริการน้ำมันหดตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ หากไม่รวมยอดขายน้ำมัน ยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรสะท้อนถึงความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซี่งแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรที่มีการบริโภคภาคเอกชนเป็นเครื่องยนต์หลัก (ในปี 57 มีสัดส่วนร้อยละ 61.3 ของ GDP) จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปี 58 โดยในครึ่งปีแรกของปี 58 เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 0.50 ต่อปี มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 52 แต่ด้วยปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จึงทำให้คาดว่าอาจสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปได้จนถึงช่วงกลางปี 59
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257