รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 8, 2015 14:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กันยายน 2558

Summary:

1. สอท.เผยแนวโน้มอุตสากรรมไทยปี 59

2. รมช.พาณิชย์ หวังสร้างความเข้มแข็งภายในสู่ระดับอาเซียนรับมือการจับกลุ่มการค้าโลก

3. รัฐบาลญี่ปุ่นเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลงในเดือนก.ค. 58

1. สอท.เผยแนวโน้มอุตสากรรมไทยปี 59
  • นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)เปิดเผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 59 ว่าจากการประเมินภาวะเศรษฐหกิจ หรือ GDP ในปัจจุบัน ทำให้ สอท. มองว่าในปี 59 อุตสากรรมไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะสามารถความเชื่อมั่นให้ถาคเอกชนตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยตั้งแต่ต้นปี 58 พบว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม หรือ MPI ที่หดตัวต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ก.ค.58 พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -5.3 เมื่อเทียบกับ โดยอุตสาหกรรมที่หดตัวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น ทั้งนี้ เมิ่อพิจารณาจากตัวเลข GDP ของภาคอุตสากรรมในไตรมาส 2 ปี 58 ที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ พบว่าชะลอลงเช่นกัน โดยในไตรมาส 2 ปี 58 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -0.7 จากไตรมาส 1 ปี 58 ที่ขยายร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกและความต้องการในประเทศในประเทศที่ลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเ ทศประกอบกับการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลัก
2. รมช.พาณิชย์ หวังสร้างความเข้มแข็งภายในสู่ระดับอาเซียนรับมือการจับกลุ่มการค้าโลก
  • นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่าทิศทางของเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงอีก 2-3 ปี จะเกิดการร่วมกลุ่มกันภายในที่ชัดเจนมากขึ้นใน 3 กลุ่ม คือ ยุโรป อเมริกา และเอเซียส่วนจะกลายเป็น 3 กลุ่มใหญ่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่ที่พลังของแต่ละกลุ่ม โดยเสริมอีกว่า อย่ามองอาเซียนเป็นคู่แข่งอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นคู่ค้าด้วย ถ้าเราใช้เวลาในช่วงนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวนมาเน้นอาเซียน และมองอาเซียนเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งหากสามารถทำในช่วงที่ตลาดโลกผันผวนได้ สัดส่วนการส่งออกเราจะดีขึ้นในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 นี้ ได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ค.) หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อีกทั้งสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV รวมกันมีมูลค่าใกล้เคียงกับการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นที่เป็นคู่ค้าอันดับสามของไทย รองจากประเทศจีน และ สหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 9.6 ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น หากรัฐบาลมีการกระตุ้นภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV โดยมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนประเทศไทยกับประเทศเหล่านี้ อาจมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งในแง่การส่งออก และการจ้างงาน เมื่อมีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทั้งยังเป็นการลดผลกระทบของการผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอีกด้วย
3. รัฐบาลญี่ปุ่นเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลงในเดือนก.ค. 58
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานเบื้องต้นว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ปรับตัวลงในเดือน ก.ค. 58 โดยดัชนีพ้องเศรษฐกิจ เช่น ผลผลิตอุตสาหกรรม การค้าปลีก และการจ้างงานใหม่ ปรับตัวลง 0.1 จุด จากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 112.2 เปรียบเทียบกับฐานปี 53 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100 ส่วนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ซึ่งคาดการณ์สถานการณ์ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลง 1.6 จุด อยู่ที่ 104.9 ขณะที่ขณะที่ดัชนีตามเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมาตรวัดการปรับตัวลงทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.1 จุด แตะ 115.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2/58 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักปัจจัยทางฤดูกาล และขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 3/58 ล่าสุดสะท้อนถึงภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก สำหรับภาคอุปทานสะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านอุปสงค์ยังสามารถขยายตัวได้บ้าง จากยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าในหมวดทั่วไปที่ขยายตัวเร่งขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านเสถียรภาพยังคงอยู่ในระดับดี จากอัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 58 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยลดลงจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้ามิใช่อาหารที่ปรับตัวลดลงเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ภาระหนี้สินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 57 (1 เม.ย. 57 - 31 มี.ค. 58) ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 216 ของ GDP เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม เนื่องจากอาจมีมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ