Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กันยายน 2558
1. กระทรวงพาณิชย์หารือทูตพาณิชย์แก้ปัญหาส่งออกติดลบ
2. เจาะลึกแรงงานอุตสาหกรรมไทย และความต้องการ 5 ปีข้างหน้า
3. จีนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. 58 ลดลงต่อเนื่อง เหตุตลาดหุ้นจีนร่วงหนัก
- นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ ในแต่ละภูมิภาค จะเน้นมอบนโยบายใน 2 เรื่องคือ การแก้ไขปัญหาการส่งออกที่ยังติดลบให้ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่เหลือของปี 58 และการเตรียมแผนยุทธศาสตร์กระตุ้นการส่งออกให้กลับมาเป็นบวกในปี 59
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ก.ค.) ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทย หดตัวร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคส่งออกไทย อาทิ ค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม สศค. คาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 นี้ จะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 (คาดการณ์เมื่อ ก.ค.58) หมายความว่า ในช่วงที่เหลือของปี 58 นี้ การส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ จากมาตรการการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหารส่งออกของไทยได้ โดยเฉพาะการกระตุ้นการค้าในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการค้าในเขตชายแดน และการส่งออกด้วยอีกทางหนึ่ง
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบัน ในภาพรวมประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยสาขาที่มีการขาดแคลนแรงงานมากที่สุดคือ ฝ่ายผลิตซึ่งยังขาดอยู่ประมาณ 34,717 คน สำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 290,604 คน
สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์แรงงานของไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสาขาการผลิตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมการศึกษาของไทยที่ส่วนใหญ่นิยมเรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งไม่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับลักษณะงานและค่าจ้างของภาคบริการที่ดึงดูดแรงงานได้มากกว่าภาคอุตสาหกรรม ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนตำแหน่งงานที่ขาดแคลนแรงงานของกองวิจัยตลาดแรงงานในเดือน ส.ค.58 พบว่าจำนวนสาขาที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ สาขาการผลิต 7029 คน รองลงมาคือ สาขาการขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 6606 คน ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปัจจุบันพบว่า จำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสาขาการผลิตอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.5 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับแนวโน้มในอนาคตคาดว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ
- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีนในเดือนส.ค.58 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากตลาดหุ้นจีนอ่อนแรงลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ใช้บัตรธนาคาร (BCCI) ซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวซินหัว และไชน่า ยูเนียนเพย์ ปรับตัวลง 0.6 จุดในเดือน ส.ค. 58 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 82.07 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมามีสัญญาณชะลอลงต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.0 แต่ในปัจจุบัน GDP ไตรมาสที่ 2/58 ของจีนขยายตัวร้อยละ 7.0 นอกจากนี้ปัญหาการร่วงลงของตลาดหุ้นจีนอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังความมั่งคั่งของชาวจีนและทำให้กำลังซื้อลดลง จึงอาจเป็นผลลบต่อการส่งออกไทยไปจีน (สัดส่วนร้อยละ 11.0) รวมทั้งอาจกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาท่องเที่ยวในไทย (สัดส่วนร้อยละ 18.5) นอกจากนี้ เศรษฐกิจด้านอุปทานก็ยังคงไม่ดีนัก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.3 จุด ลดลงจาก 47.8 จุด ในเดือนก่อน อยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 รวมทั้งดัชนีฯ ภาคบริการ (Caixin) อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ลดลงจาก 53.8 จุด ในเดือนก่อน เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน สะท้อนสัญญาณความอ่อนแอของภาคการผลิต ทั้งนี้ ประเด็นการปรับลดลงของตลาดหลักทรัพย์จีนเป็นประเด็นที่ต้องติดตามควบคู่ไปกับการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนในภาพรวม
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257