Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กันยายน 2558
Summary: 1. ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย แนะไทยปรับตัวตามบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ
2. ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.6
3. มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นเดือน ส.ค. 58 ชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 3.1
- นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. ประจำปี 58 ว่าไทยจำเป็นต้องมีนโยบายเชิงรุกที่มุ่งเน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรับมือกับบรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะปกติใหม่ เช่น การรับมือการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจและภาครัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะปกติใหม่ (New Normal) หรือภาวะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวในระดับที่ต่ำลงส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยชะลอตัว โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าส่งออกหดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างเปราะบาง การรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ การส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศเพื่อเป็นอีกกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นวงเงิน 1.3 แสนล้านบาทประกอบด้วย 1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน 2) การให้เงินกู้แก่ชุมชนเพื่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของประชาชน และ 3) การเร่งเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ ในระยะยาวภาครัฐควรเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
- ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยชะลอลงในทุกหมวด แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 0.2 โดยขยายตัวได้ดีในหมวดเครื่องนุ่งห่ม จากการขายเครื่องแบบนักเรียน และการขายผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่มีการหดตัวในหมวดอาหาร ร้านค้าทั่วไป และเครื่องใช้ในครัวเรือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรที่ชะลอลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากการเร่งบริโภคในช่วงต้นปี แต่ยังไม่ได้เป็นสัญญาณลบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร เนื่องจากยังมีการขยายตัวได้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนเป็นสัดส่วนที่สำคัญในเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร โดยในปี 57 คิดเป็นร้อยละ 61.3 ของ GDP ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี (ในเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.0) และการขยายตัวของรายได้ไม่รวมโบนัส ที่ในเดือน ก.ค. 58 ขยายตัวถึงร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคภาคเอกชนสหราชอาณาจักรให้สามารถขยายตัวต่อไปได้
- มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ยุโรป และจีน ที่ปรับตัวลดลงเป็นหลัก ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือน ส.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -3.1 ส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลจากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่ทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวขาดดุลมูลค่า 5.7 แสนล้านเยน เทียบกับเดือนก่อนที่ขาดดุลเพียง 2.7 แสนล้านเยน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการส่งออกญี่ปุ่นที่ชะลอตัวในเดือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่ปรับตัวลดลง โดยจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่นสัดส่วนกว่าร้อยละ 18.3 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 57 ทำให้เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ภาพรวมการส่งออกญี่ปุ่นยังคงเป็นบวกต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 57 จากอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านราคาของสินค้าส่งออกญี่ปุ่น ผนวกกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 (สัดส่วนร้อยละ 18.7 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยในเดือน ส.ค. 58 การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ภาคการส่งออกญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ซึ่งแนวโน้มนี้น่าจะคงอยู่ไปจนถึงสิ้นปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257