รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2015 15:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กันยายน 2558

Summary: 1. ขุนคลังกล่าวเฟดคงดอกเบี้ยดีต่อไทยและประเทศกำลังพัฒนา

2. TUF สั่งลุยประกันราคาขั้นต่ำดันผลผลิตกุ้งโต

3. ผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯ หนี้ท่วม เสี่ยงเจ๊ง

1. ขุนคลังกล่าวเฟดคงดอกเบี้ยดีต่อไทยและประเทศกำลังพัฒนา
  • รมว. คลังระบุหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยว่าน่าจะมีผลดีกับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าหากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก นอกจากนี้ ยังมองว่าการที่เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เนื่องจากอาจจะยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวอยู่ แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เฟดคงดอกเบี้ยไว้เนื่องจากมีความกังวลด้านความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน จึงมีการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับระยะยาวนั้นคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐมีเงื่อนไขจากความแข็งแกร่งของตัวเศรษฐกิจสหรัฐเองประกอบกับเงินทุนไหลออกจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จึงทำให้ในระยะยาวการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐจะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วยซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นการที่เงินทุนไหลออกอาจจะมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการลดลงของราคาสินทรัพย์ (asset prices) และอารมณ์ตลาด (sentiment) ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวระดับหนึ่งแต่คาดว่าจะเป็นระดับที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากทางเฟดมีการสื่อสารอย่างชัดเจนว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปีและจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงทำให้ตลาดรับรู้และมีแผนการรับมืออยู่แล้วความเสี่ยงในระยะสั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
2. TUF สั่งลุยประกันราคาขั้นต่ำ ดันผลผลิตกุ้งโต
  • นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด(มหาชน)(TUF) เปิดเผยถึงสถานการณ์ผลผลิตกุ้งของประเทศไทยว่า ล่าสุดผลผลิตกุ้งทั่วประเทศในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น และมีอัตรารอดจากโรคตายด่วน (EMS) มากขึ้น มีผลทำให้เรียกความเชื่อมั่นลูกค้าต่างประเทศให้กลับมาซื้อสินค้ากุ้งจากไทยได้ดีขึ้น และล่าสุดทาง TUF ได้เปิดโครงการรับประกันราคากุ้งจากเกษตรกรในวันที่ 16 ก.ย. 58 โดยมีการเซ็นสัญญากับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วทุกภูมิภาคกว่า 100 รายรวมกว่า 1.6 พันฟาร์ม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาของโรคตายด่วนในกุ้ง (EMS) ที่ระบาดตั้งแต่ปลายปี 54 ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งให้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า และทำให้การส่งออกกุ้งหดตัวต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผลผลิตกุ้งและปริมาณการส่งออกกุ้งเริ่มกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 และ 4.1 ตามลำดับ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจากหลายหน่วยงานตั้งแต่การอนุบาลพันธุ์กุ้ง ตลอดจนการประกันราคากุ้ง ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งในหลายพื้นที่ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการที่ผลผลิตกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตกุ้งของโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อาจส่งผลต่อราคากุ้งให้มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปกุ้ง จะซื้อกุ้งก็ต่อเมื่อมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศไม่ตุนวัตถุดิบเหมือนในอดีต ซึ่งการที่ TUF ออกมาตรการประกันราคากุ้งในครั้งนี้ น่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้อีกทางหนึ่ง
3. ผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯ หนี้ท่วม เสี่ยงเจ๊ง
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยข้อมูลหนี้สินของผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ พบว่า ผู้ผลิตกว่า 30 ราย ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันมีการสะสมของหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินโดยเฉลี่ยของกลุ่มผู้ผลิตดังกล่าวอยู่ที่ระดับร้อยละ 40 ของมูลค่าบริษัทโดยรวม นักวิเคราะห์คาดว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ปริมาณการผลิตโดยรวมของสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดลง 2-4 แสนบาร์เรลต่อวัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาด้านการเงินของผู้ผลิตในสหรัฐฯ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากราคาน้ำมันกลับสู่แนวโน้มขาลงต่อเนื่องอีกครั้งตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ผลิตหลายรายสามารถดำเนินธุรกิจของตนได้จากที่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงในช่วงปลายปี 57 และต้นปี 58 อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายไม่ได้เตรียมการเพื่อรองรับกับขาลงรอบนี้ได้ นอกจากนี้ การที่อุปทานยังคงล้นเกินในตลาด ประกอบกับการที่อุปสงค์จากจีนชะลอลง ทำให้ราคาน่าจะอยู่ในระดับต่ำเป็นระยเวลานาน นักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซคส์คาดว่าราคาน่าจะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลากว่า 15 ปี และนั่นจะเป็นสาเหตุที่ทำให้แนวโน้มของความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อมาดำเนินธุรกิจก็จะมีราคาแพงและทำได้ยากมากขึ้นซึ่งจะยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจและการผลิตน้ำมันใหม่ออกมาหลังจากนี้จะมีความเป็นไปได้น้อยลง ปัจจัยดังกล่าวนี้จะเข้ามามีส่วนทำให้ราคาน้ำมันมีโอการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะเร็วช้าเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตในสหรัฐฯ จะปรับตัวรองรับกับขาลงรอบใหม่ได้ดีเพียงใด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ