รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 18 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2015 15:59 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • วันที่ 16 ก.ย. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี
  • ที่ประชุม FOMC วันที่ 16-17 ก.ย. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีก ของจีน เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาบ้าน เดือน ส.ค. 58 ลดลงร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -3.1
  • มูลค่าการส่งออกของยูโรโซน เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.6 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อ ของสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 58 ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ ไตรมาส 2 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators                  Forecast    Previous
Aug : ยอดขายรถยนต์นั่ง (%YOY)    -24.6      -25.1
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน กอปรกับการเร่งการบริโภครถยนต์นั่งไปก่อนหน้านี้จากนโนบายรถคันแรก รวมทั้งระดับความเชื่อมั่นในการบริโภคและราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
Economic Indicator: This Week
  • วันที่ 16 ก.ย. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่านโยบายการเงินยังคงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 58 คาดว่าหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -24.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -25.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน กอปรกับการเร่งการบริโภครถยนต์นั่งไปก่อนหน้านี้จากนโนบายรถคันแรก รวมทั้งระดับความเชื่อมั่นในการบริโภคและราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ที่ประชุม FOMC วันที่ 16-17 ก.ย. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า Fed ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ภายในปี 58 ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)ชะลอลงจากยอดขายสินค้าทั่วไป ผลผลิตภาค อุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าวัตถุดิบที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 58 ทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

China: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ ด้านการลงทุนในสินทรัพย์คงทน เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในอัตราต่อต่อเนื่องจากร้อยละ 6.0 ในเดือนก่อน ราคาบ้าน เดือน ส.ค. 58 ยังลดลงร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาบ้านในเมืองเล็กยังคงลดลงต่อเนื่อง

Japan:improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขเบื้องต้น มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังอาเซียน ยุโรป และจีน ที่ลดลงเป็นหลักส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือน ส.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -3.1 ผลจากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวขาดดุล 5.7 แสนล้านเยน ขาดดุลเร่งขึ้นจากเดือนก่อน

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากหมวดสินค้าคงทนและสินค้าทุน มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะหดตัวร้อยละ -0.7 (ขจัดผลทางฤดูกาล)จากสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.9 หรือหดตัวร้อยละ -1.1 จากเดือนก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการหดตัวในหมวดน้ำมันดิบและการชะลอตัวในหมวดอาหารและสินค้าอุตสาหกรรม ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 31.4 พันล้านยูโร

United Kingdom: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารและค่าขนส่งที่หดตัวต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.2

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 ปี มูลค่าการนำเข้า (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -18.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ทำให้ดุลการค้า (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ส.ค. 58 เกินดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า

India: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบต่อเนื่อง 11 เดือน จากราคาน้ำมัน มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ -20.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่อง 9 เดือน จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุปสงค์ตลาดโลกชะลอตัวขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ -9.9 จากการนำเข้าน้ำมันทำให้ดุลการค้าขาดดุล 1.3 หมื่นล้านรูปี

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -17.1 จากสินค้าพลังงาน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงมาที่ 466.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาส 2 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายหมวดร้านค้าสะดวกซื้อ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเครื่องนุ่งห่มที่ลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 58 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีน ฮ่องกง และประเทศอื่นๆ ในเอเชียหดตัวมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -6.8 จากการนำเข้าสินค้าทุกหมวด ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์โทรคมนาคม ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Vietnam:improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด ลดลงจาก 52.6 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนีฯยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 12.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบและปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 17 ก.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,389.70 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 34,685.3 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ตามที่ตลาดคาดไว้ ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงกังวลต่อผลการประชุม FOMC ในวันที่ 16 - 17 ก.ย. 58 ในประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,434.5 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 5-15 ปี โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนชาวต่างชาติ ภายหลัง ผลการประชุม กนง. เป็นไปตามคาด ขณะที่ นักลงทุนยังคงจับตามองผลการประชุม FOMC ดังกล่าว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,369.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 17 ก.ย. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.22 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.60 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ