Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กันยายน 2558
1. สศก. เผยดัชนีราคาผลผลิต ส.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
2. โตโยต้าเผยตลาดรถยนต์ในประเทศ ส.ค. 58 ลดลงร้อยละ 9.9 ต่อปี
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 56
- นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือน ส.ค. 58 พบว่าสูงขึ้นร้อยละ 2.27 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นได้แก่มัน สำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไข่ไก่
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีราคาผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. 58 มีปัจจัยหลักมาจากผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดลดลงอันเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวนและเป็นช่วงปลายฤดูกาลในขณะที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบจากราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในปีก่อนหน้าจะพบว่าเดือนส.ค.58 หดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคายางพาราเป็นสำคัญตามอุปสงค์ยางพาราที่ลดลงจากผู้นำเข้าโดยเฉพาะประเทศจีน ประกอบกับราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และประมงที่หดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.- ส.ค.) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือน ส.ค.58 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 61,991 คัน ลดลงร้อยละ 9.9 ต่อปี ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 22,790 คัน ลดลงร้อยละ 24.0 ต่อปี รถเพื่อการพาณิชย์ 39,201 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ต่อปี รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ จำนวน 31,746 คัน ลดลงร้อยละ 0.3 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เป็นหนึ่งในเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และยอดขายรถยนต์นั่งเป็นหนึ่งในเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน ทั้งนี้ จากข้อมูลในเดือน ส.ค. 58 ยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ต่อปี เป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรก ในรอบ 27 เดือน สะท้อนว่าการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งปรับลดลงร้อยละ 24.0 ต่อปี สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากการเร่งการบริโภค ไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่จัดเก็บจากฐานการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. จะได้ติดตามสถานการณ์การลงทุนและการบริโภค ของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดต่อไป
- ธนาคารกลางสหรัฐฯเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมครั้งแรก (Flash Manufacturing PMI) ใน เดือน ก.ย.58 ทรงตัวอยู่ที่ 53.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 56 อย่างไรก็ดี ตัวเลขดัชนีที่มากกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ มีการขยายตัว
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมครั้งแรก (Flash Manufacturing PMI) ที่ขยายตัวอ่อนแอที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 56 บ่งชี้ได้ว่าการผลิตของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลล่าร์ที่แข็งค่าขึ้น และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ซบเซาลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยถ่วงต่อการขยายตัว ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257