รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2015 11:36 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -24.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 82.4
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 58 หดตัว ร้อยละ -11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 5.1 แสนหลัง หรือขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.0
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin ของจีน เดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 47.0 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือน ก.ย. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ -7.1 จุด
  • อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกง เดือน ส.ค. 58 ทรงตัวที่ ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                    Forecast    Previous
Aug : ยอดขายรถยนต์นั่ง (%YOY)      -5.6       -5.3
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 75 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52 จากความกังวลต่อภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่มีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ CLMV อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ
Economic Indicator: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 58 มีจำนวน 22,790 คัน คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่อง ที่ร้อยละ -24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง กอปรกับการเร่ง การบริโภคไปก่อนหน้านี้จากนโยบายรถคันแรกทำให้ปริมาณการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งยังคงหดตัว ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.ถึง ส.ค.) ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 39,201 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในเดือน ส.ค. 58 มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 26,018 คัน หรือคิดเป็นการ หดตัวร้อยละ -18.3 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้วพบว่า หดตัวร้อยละ -12.0
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงเป็นเดือน ที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 75 เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52 จากความกังวลต่อภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจการหดตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง
Economic Indicator: This Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.8 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามการหดตัวของผลผลิต ในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน จากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่หดตัวในระดับสูง โดยในเดือนส.ค. ผลผลิตข้าวเปลือกหดตัวร้อยละ -68.6 ขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ยังคงขยายตัวได้ดี อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.- ส.ค.) ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือนส.ค.58 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.3 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลโดยสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัว19 เดือน ติดต่อกัน โดยในเดือน ส.ค. ดัชนีราคาฯ หดตัวจากราคายางพาราเป็นสำคัญ ตามอุปสงค์ยางพารา จากผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างประเทศจีนที่ลดลง กอปรกับการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และประมงที่หดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.- ส.ค.) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนี ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 75 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52 จากความกังวลต่อภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่มีการ หดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ CLMV อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น สะท้อนจากยอดขายบ้านมือสอง เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 5.1 แสนหลัง หรือขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากยอดขายบ้านเดี่ยวและอาคารชุด ราคากลางบ้านมือสองเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 2.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากราคาบ้านทุกประเภท ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.0 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากบ้านทุกประเภทที่หดตัว ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากใบอนุญาตก่อสร้างบ้านทุกประเภทที่กลับมาขยายตัว

China: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 47.0 จุด ลดลงต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และนับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 78 เดือนโดยดัชนีย่อยส่วนใหญ่แสดงการปรับตัวลดลงในอัตราที่รวดเร็วขึ้น ทั้งผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ คำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก และราคาผลผลิต เป็นต้น

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากค่าขนส่งที่ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือน

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ -7.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ก.ย. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ 53.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 54.3 แต่ยังอยู่ในระดับสูง และอยู่ในระดับที่มีการขยายตัว สะท้อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของยูโรโซน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 52.0 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ อยู่ที่ 54.0 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุปทานยูโรโซนต่อเนื่อง

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 58 ขาดดุล 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง อาทิ กาแฟและเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน และค่าขนส่ง

Philippines: mixed signal

มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 16.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากหดตัว 3 เดือน โดยเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนที่ขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวและมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 58 ขาดดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดดุลที่สูงสุดในรอบ 1.5 ปี เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 58 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ -0.4 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ยกเว้นหมวดอาหาร สันทนาการและวัฒนธรรม และการศึกษา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเป็นเดือนที่ 8 จากเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์กระดาษ และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่หดตัวต่อเนื่อง

Taiwan: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.ย. 58 ลง 12.5 bps จาก ร้อยละ 1.875 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีสัญญาณชะลอลงอย่างชัดเจน หลังจากในไตรมาส 2 ปี 58 เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนีฯ ณ 24 ก.ย. 58 ปิดที่ระดับ 1,372.35 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 35,080.7 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนชาวต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคาร จากความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท SSI ที่อาจส่งผลกระทบต่อธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ PMI ของจีนที่บ่งชี้การหดตัวของภาคการผลิต ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และนักลงทุนจับตาคำแถลงของนางเยลเลน ประธาน Fed ในช่วงเย็นของวันที่ 24 ก.ย. 58 (ตามเวลาสหรัฐฯ) ที่คาดว่าจะกล่าวถึงแนวทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 ก.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 7,127.0 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนชาวต่างชาติ และจากนักลงทุนรายย่อย จากผลประมูลพันธบัตรรัฐบาล Benchmark 15 ปี ที่ได้รับความสนใจถึง 2.76 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 ก.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 4,762.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 24 ก.ย. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 36.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.75 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.82 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ