รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2015 12:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2558

Summary:

1. ฟรีค่าโอนล้างสต๊อกคอนโดQH-แสนสิริ-อนันดาชิงตัดหน้ารัฐ

2. แบงก์ชี้บาทอ่อนยาวถึงปี 59 เห็นสัญญาณผู้นำเข้าแห่ทำเฮดจิ้ง

3. รัสเซียผลิตน้ำมันสูงสุดรอบ 20 ปี

1. ฟรีค่าโอนล้างสต๊อกคอนโดQH-แสนสิริ-อนันดาชิงตัดหน้ารัฐ
  • ผู้ประกอบการขายคอนโดมิเนียมล้วนมีความเห็นหลังประเมินผลกระทบมาตรการกระตุ้น อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของรัฐบาลว่าอาจส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้ซื้อและทำให้กำลังซื้อสะดุดในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากผู้บริโภคต้องการรอรับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าวด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงพร้อมใจประกาศยกเว้นค่าโอนและค่าจดจำนองให้ลูกค้าฟรีด้วยแคมเปญเร่งโอนเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจเร็วขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถาณการณ์ด้านการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศสะท้อนจากการหดตัวของผลผลิตเกษตรกรรมอุตสาหกรรมและการส่งออกรวมถึงการที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีการชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรพย์โดยหากดูจากเครื่องชี้ในช่วง 7 เดือนแรกพบว่าค่าโอนกรรมสิทธิ์และมูลค่าซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการหดตัวชัดเจนในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ร้อยละ -9.2 ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงมีแนวคิดช่วยเหลือภาคอสังหาฯ โดยการลดค่าโอนและค่าจดจำนองจากร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับเหลือเพียงร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการซื้อขายภาคอสังหาฯ ได้ดี อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขด้านเวลาก็มีส่วนสำคัญกล่าวคือหากมีการจัดทำนโยบายล่าช้าก็จะทำให้ประชาชนชะลอการซื้อขายออกไปทำให้สถานการณ์อาจแย่ลงได้ในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การออกมาเสนอการลดค่าโอนเองของผู้ประกอบการจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ เพียงบางส่วนเท่านั้น ในส่วนของการซื้อขายอสังหาฯ ใหม่ ขณะที่ การซื้อขายมือสองจะไม่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้
2. แบงก์ชี้บาทอ่อนยาวถึงปี 59 เห็นสัญญาณผู้นำเข้าแห่ทำเฮดจิ้ง
  • นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มผู้ประกอบการจะหันมาป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ทั้งนี้ธนาคารมองกรอบเงินบาทปีนี้อยู่ที่ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 59 กรอบเงินบาทจะอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทในปี 58 มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องและผันผวนสูงจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการอ่อนค่าลงของค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกดดัน ให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยข้อมูลล่าสุด (วันที่ 2 ต.ค. 58) ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่ร้อยละ 11.0 และ Nominal Effective Exchange Rate (NEER) เฉลี่ยทั้งเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 100.3 ลดลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่อยู่ที่ 103.4 คิดเป็นการอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าค่าเงินบาทในปี 58 จะอยู่ที่ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 32.95-34.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 58 ซึ่งการอ่อนค่าลงจากปีก่อนของค่าเงินบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าหันมาทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการทำ Forward อย่างชัดเจน เพื่อให้ได้รายได้เป็นเงินบาทที่แน่นอน และเมื่อพิจารณาข้อมูลการนำเข้าในรูปเงินบาทในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 พบว่ายังคงหดตัวที่ร้อยละ -6.2
3. รัสเซียผลิตน้ำมันสูงสุดรอบ 20 ปี
  • กระทรวงพลังงานรัสเซียเปิดเผยตัวเลขการผลิตน้ำมันล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าร้อยละ 1.0 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี หรือ นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย สาเหตุมาจากค่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าลงมากทำให้ผู้ผลิตเร่งผลิตเพื่อส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเร่งผลิตของรัสเซียตอกย้ำภาพความล้นเกินของอุปทานน้ำมันโลกอีกครั้ง แม้ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอการผลิตลงบางส่วนก็ตาม แต่ปริมาณน้ำมันสำรองของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ทางฝั่งอุปสงค์ก็ยังคงอยู่ในสถานะชะลอตัวเช่นกันหลังดัชนี PMI ของจีนที่บ่งชี้การเติบโตของเศรษฐกิจเดือนล่าสุดยังอยู่ที่ระดับ47.2 ซึ่งหมายถึงการชะลอตัวต่อเนื่องของแรงกดดันทั้งสองฝั่งทำให้ส่วนเกินด้านอุปทานยังคงมีอยู่ในตลาดและกดดันราคาน้ำมันต่อไป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 43.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เปลี่ยนแปลงลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 3.0 โดยทิศทางในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างทรงตัว ช่วงที่เหลือของปีนี้ควรจับตาปัจจัยหลักๆ ที่จะมีผลต่อราคาน้ำมัน ได้แก่ ปริมาณการผลิตของประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐฯ กลุ่มโอเปค และรัสเซีย ทิศทางของเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินสหรัฐฯ เบื้องต้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยทั้งปีนี้ มีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่าระดับ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตามที่ได้เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ