รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2015 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2558

Summary:

1. ครม.กระตุ้นอสังหาฯ ปล่อยกู้หมื่นล้านบาท, ลดค่าธรรมเนียม, หักลดหย่อนภาษีเงินได้

2. กกร. ปรับเป้า GDP ไทยปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.0

3. การส่งออกจีน ในเดือนก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. ครม.กระตุ้นอสังหาฯ ปล่อยกู้หมื่นล้านบาท, ลดค่าธรรมเนียม, หักลดหย่อนภาษีเงินได้
  • รมว.คลัง แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย การเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่ถูกธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านสามารถขอกู้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยมีวงเงินเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาทที่จะดำเนินการใน 1 ปี ซึ่งหากไม่เพียงพอยังสามารถเพิ่มวงเงินได้, การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้กับผู้ที่ซื้อบ้านทั้งเก่าและใหม่ เพื่อประหยัดเงินให้กับประชาชน นอกจากนั้น ยังให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถนำวงเงิน 20% ของมูลค่าบ้านไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในช่วง 5 ปีภาษี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมานี้ มีความชัดเจนในเรื่องรายละเอียดของมาตรการและระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่แท้จริงให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ผ่านโครงการสินเชื่อบ้านของ ธอส. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 2) อานิสงค์ของมาตรการ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ การเช่า และธุรกิจเกี่ยวข้องมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.3 ของ GDP 3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ยังก่อให้เกิด Multiplier effect ของห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงอีกหลายภาคเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร อุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง ธุรกิจการเงิน การประกันภัย การบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจต่างๆ และ 4) สศค. คาดว่าผลของมาตรการจะมีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 58 และปีหน้า จับตา: ผลของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 58
2. กกร. ปรับเป้า GDP ไทยปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.0
  • นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.0 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-3.5 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกที่จะหดตัวถึงร้อยละ 5.0 ในปีนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกปี หดตัวร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศส่งสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อาทิ ยอดขายรถรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -21.2 และร้อยละ -11.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังปรับตัวลดลง และหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 2) อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทย ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 58 และ 3) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5-3.5) ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 58 และจะมีการปรับประมาณอีกครั้งในเดือน ต.ค.58 จับตา: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 58
3. การส่งออกจีน ในเดือนก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานศุลกากรของจีน เปิดเผยการส่งออกสินค้าของจีน ในเดือนก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.6 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.9 ส่งผลให้ดุลการค้าของจีนในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก บ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวจากช่วงครึ่งแรกของปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ +7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2) จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 47.2 ลดลงต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยดัชนีย่อยส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวลดลง ทั้งผลผลิต และคำสั่งซื้อใหม่ 3) อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านการผ่อนคลายทางการเงิน โดยในวันที่ 25 ส.ค. 58 ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และ 1.75 ตามลำดับ นับเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 และยังได้ปรับลดอัตราเงินสดสำรอง (RRR) ลง 50 bps ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 18.0 และ 4) สศค. คาดว่า GDP ของจีนในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ประมาณการ ณ เดือน กรกฎาคม 2558 จับตา: ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ