Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2558
1. BOI จับมือเมืองฮามามัตสึ ดึงญี่ปุ่นหนุนอุตฯเทคโนโลยี-คลัสเตอร์
2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวมของสหรัฐ เดือน ก.ย. ลดลงเป็นเดือนที่ 2
3. จีนเผย GDP ช่วงไตรมาสที่ 3/58 ขยายตัวร้อยละ 6.9 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 7 ครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี
- นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนายยาสุโตโมะ ซูซูกิ นายกเทศมนตรี เมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่นว่า ทั้งสองหน่วยงาน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนแก่ทั้งสองฝ่าย
- สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์ตามลำดับ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ 8 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ส.ค.) พบว่า โครงการที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติมีจำนวน 335 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนจำนวน 115,667 ล้านล้านบาท สูงกว่าโครงการลงทุนที่มีปริมาณเงินลงทุนเป็นอันดับ 2 คือ สหรัฐที่มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติเพียง 35 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุน 24,830 ล้านล้านบาท ซึ่งค่อนข้าง น้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนในโครงการของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทย ยังมีศักยภาพด้านการลงทุน และมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะ ซึ่งเมือง ฮามามัตสึ เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนจากเมืองฮามามัตสึที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 66 บริษัท เช่น บริษัท ซูซุกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผลิตรถจักรยานยนต์ บริษัทโรแลนด์ ดิจิตอล กรุ๊ป (ประเทศไทย) ผลิตเครื่องพิมพ์เอกสาร (Printer) ระบบ 3D และบริษัทไทย อาซาฮี เดนโซ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หาก BOI ได้ดำเนินการทำ MOU กับเมืองฮามามัตสึ จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนเป็นไปอย่างสะดวกและง่ายขึ้น และเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของทั้ง 2 ประเทศด้วย
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ เผย ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.2 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือน ส.ค.58
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่ถือได้ว่ายังอยู่ในระดับมาตรฐานเพราะอยู่ในระดับที่เกิน 50 จุด ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง จากการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางขยายตัวได้ดีและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาสที่ 3 ปี 58 ที่อยู่ในระดับสูงโดยอยู่ที่ 98.4 จุด บ่งชี้ว่าแนวโน้มกำลังซื้อของประชาชนในระยะยาวยังแข็งแกร่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 58 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 2.9 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 58)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาส 3/58 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปรับตัวต่ำกว่า ร้อยละ 7 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกที่มีการหดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 58 โดยมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว มูลค่าการนำเข้าก็มีการหดตัวในอัตราเร่ง โดยมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -20.5 ขณะที่ ภาคการผลิตอื่นๆ ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว สะท้อนจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย NBS เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.7 จุด ในเดือนก่อน นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ โดย NBS เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้ง อาจต้องติดตามการเปลี่ยนระบบการคำนวณอัตราอ้างอิงของเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257