Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2558
Summary:
1. ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส. เผย 9 เดือนแรกอสังหาฯหดร้อยละ 10
2. สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย คาดส่งออกเสื้อผ้า ปี 58 ลดลงร้อยละ 5.0
3. น้ำมันคงคลังทะลักกดราคาร่วงต่อ
1. ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส. เผย 9เดือนแรกอสังหาฯหดร้อยละ 10
- ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 เชื่อว่ามีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีปัจจัย บวกจากการที่รัฐบาล ได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ตลาดกลับมามีความคึกคักมากขึ้น โดยภาพรวมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จำนวนโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ลดลงร้อยละ 9.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดลดลง ร้อยละ10.3
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของค่าโอนกรรมสิทธ์และมูลค่าซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพบว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีมีการหดตัวในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 9.2 ส่วนข้อมูลการขอจดทะเบียนอาคารชุดในกรุงเทพฯมีการหดตัวเช่นเดียวกันโดยหดตัวร้อยละ -13.8 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศและนอกประเทศ จากการที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ และภาคการส่งออกยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ลดลงอย่างไรก็ดี ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯด้วยการลดค่าโอนและค่าจดจำนองเหลือเพียงร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน และยังได้ให้ ธอส. ผ่อนคลายนโยบายปล่อยสินเชื่อสำหรับบ้านที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทอีกด้วยซึ่งมาตรการนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 58 และไตรมาสแรกของปี 59 จากการที่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี จีดีพีภาคอสังหาฯ และการก่อสร้างจะไม่ได้รับอานิสงส์มากนักเนื่องจากเป็นการขายอสังหาฯที่อยู่ในสต็อกเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ถูกนับเป็นสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย
2. สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย คาดส่งออกเสื้อผ้า ปี 58 ลดลงร้อยละ 5.0
- นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย คาดว่าส่งออกเสื้อผ้าปีนี้จะลดลง ร้อยละ 5.0 จากพิษเศรษฐกิจโลก ซึ่งมูลค่าส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้าน"พาณิชย์" แนะเอกชนปรับกลยุทธ์สู้กับคู่แข่งหลายประเทศ เจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องวางเครือข่ายร่วมกันในระยะยาว
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มในช่วง 8 เดือนของปี 58 มีมูลค่า 1,783.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว ร้อยละ -8.6 ตามการหดตัวของสินค้าในหมวดย่อย โดยเฉพาะ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มีมูลค่า 1,544.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว ร้อยละ -8.8 ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี เบลเยียม และฝรั่งเศส เนื่องจากตลาดทั่วโลกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จากการที่ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (TGMA) ได้ร่วมกันจัดงาน เสื้อผ้าส่งออก ครั้งที่ 34 ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกสินค้าทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวนั้น จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้สถานการณ์ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นบ้าง
3. น้ำมันคงคลังทะลักกดราคาร่วงต่อ
- หน่วยงานด้านข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA เปิดเผยข้อมูลยอดน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 476.6 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน โดยระดับน้ำมันคงคลังถือว่าสูงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีมากกว่า 100 ล้านบาร์เรลและยังใกล้แตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกด้วย เหตุดังกล่าวทำให้ราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสล่วงหน้าเดือน ธ.ค. เฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงร้อยละ 5.6 มาอยู่ที่ระดับ 44.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นการปรับลดลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันยังถูกกดดันโดยปัจจัยพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มในลักษณะนี้ไปจนถึงปีหน้า ยอดคงคลังที่อยู่ในระดับสูงประกอบกับแนวโน้มการผลิตจากกลุ่มโอเปคและมีความเป็นไปได้ที่ประเทศอิหร่านจะเข้ามามีบทบาทในตลาดน้ำมัน ส่งผล ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานคาดว่าจะมีน้ำหนักมากในช่วงปี 59 ในด้านอุปสงค์ถึงแม้ผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีนจะมีการปรับลดอตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตลาดน้ำมันกลับตอบรับกับข่าวยอดน้ำมันคงคลังที่เพิ่มขึ้นมากกว่า แสดงให้เห็นว่าตลาดยังไม่มีความเชื่อมั่นกับการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐก็มีส่วนทำให้น้ำมันมีความน่าสนใจในการลงทุนน้อยลง จึงทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ ซึ่งแนวโน้มของสกุลเงินดังกล่าวจะยังอยู่ในทิศทางที่สามารถแข็งค่าขึ้นได้อีกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังจะขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ สศค. คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 58 นี้มีแนวโน้มสูงที่จะต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ในปีหน้า ราคาน้ำมันอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับปีนี้จากการชะลอตัวลงของการผลิตในสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของอุปสงค์โดยรวม
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257