Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2558
Summary:
1. ธนาคารโลกจัดอันดับไทยที่ 49 ใน Doing Business 59
2. อสังหาฯ ไทยเนื้อหอม ต่างชาติแห่ลงทุนรับเออีซี
3. ยูบีเอส ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปี 59 เหลือร้อยละ 6.2
1. ธนาคารโลกจัดอันดับไทยที่ 49 ใน Doing Business 59
- ธนาคารโลกรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี (Doing Business 59) พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากภาพรวมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในลำดับที่ 49 ในรายงาน Doing Business ปี 59 เมื่อเปรียบเทียบกับลำดับที่ 46 ในปี 58 ซึ่งได้นำระเบียบวิธีใหม่มาปรับปรุงลำดับเพื่อการเปรียบเทียบที่สมบูรณ์ขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าไทยจะถูกลดอันดับในรายงาน Doing Business ปี 59 แต่จากการที่ประเทศไทยได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงติดอันดับ 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของประเทศอาเซียน และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า การวัดผลด้านการขอนุญาตการก่อสร้างของไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 39 ดีขึ้นจากอันดับที่ 47 ในปี 58 ทั้งนี้เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการลดลงจาก 113 วัน เป็น 103 วัน ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงตัวชี้วัดด้านบริหารจัดการที่ดิน เพื่อนำระบบดิจิตอลมาใช้ในระบบฐานข้อมูลที่ดินเพื่อสะดวกในการสืบค้น ซึ่งการปฏิรูปนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุน นอกจากนี้ ในเดือน พ.ย. 58 จะมีการประชุมส่วนราชการและเอกชนเรื่องการจัดทำศูนย์บริการ ณ จุดเดียวของหน่วยงานรัฐในการให้บริการจุดเดียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ
2. อสังหาฯ ไทยเนื้อหอม ต่างชาติแห่ลงทุนรับเออีซี
- รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นที่จับตามองและได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ แม้ตลาดช่วงนี้ค่อนข้างชะลอตัว แต่มีภาพการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการอสังหาฯ ไทยและบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา กลุ่มนักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดในไทยมากขึ้น โดยมีผู้ร่วมทุนเป็นคนไทยพัฒนาโครงการ คอนโด ทั้งในกรุงเทพและหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น หัวหิน พัทยา เชียงใหม่
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้นักลงทุนเข้าลงทุนธุรกิจอสังหาฯ ไทย ส่วนหนึ่งเพราะมั่นใจศักยภาพตลาดอสังหาฯ ในไทยรวมถึงแนวโน้มการขยายตัวของกรุงเทพฯ จากการขยายเส้นทางของรถไฟฟ้า ทำให้ที่อยู่อาศัยมีการเติบโต ประกอบกับไทยมีทำเลศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนทำให้สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ในทางรถยนต์ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดใจของนักลงทุนชาวต่างชาติในการเข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศไทย นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายของในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ให้ประชาชนซื้อบ้านหลังที่ 2 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลงทุนในต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนจีนเข้ามาทำตลาดและลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดช่วง ม.ค.-ก.ค. 58 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยแล้วจำนวน 164,176 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 41.9 ต่อปี
3. ยูบีเอส ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปี 2559 เหลือร้อยละ 6.2
- ยูบีเอส ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2559 ลงเหลือร้อย 6.2 ต่อปี จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องยากที่จีนจะบรรลุเป้าหมายเติบโตที่ร้อยละ 6.5
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนล่าสุดพบว่าGDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 58 แต่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทางการจีน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงเป็นผลมาจากการส่งออกที่หดตัวในอัตราสูง ประกอบกับการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุดในเดือน ก.ย. 58 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องโดยอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี ในขณะที่ด้านการลงทุนในสินทรัพย์คงทนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี ชะลอลงต่อเนื่องและขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 15 ปี อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงและการปรับลดสัดส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตั้งแต่ปลายปี 57 แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของจีนในปี 58 และ ปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ต.ค. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257