สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าคาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ด้านการส่งออกบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 – 2.3) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการอ่อนค่าของเงินบาท”
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาภัยแล้ง”
เอกสารแนบ
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2558 และ 2559
1. เศรษฐกิจไทยปี 2558
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 3.1) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 อันมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 20.7 – 22.7) และการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 – 3.7) เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การลงทุนด้านระบบขนส่งทางถนน การพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ นอกจากนี้ ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 – 2.1) และร้อยละ 0.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.3 – 1.3) ตามลำดับ เนื่องจากคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่หดตัวจากผลผลิตที่น้อยลงเพราะปัญหาภัยแล้งรวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำคาดว่าจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจคาดว่าจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 1.1) ปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลหลักและภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูงคาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 30.15 ล้านคน สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.5 ถึง 0.5)
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 มีทิศทางปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.2 ถึง -0.7) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกชะลอลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 – 1.0 ของกำลังแรงงานรวม) ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 26.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.9 – 8.0 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ ที่ 27.8 – 36.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวในอัตราที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออก ตามการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2558 จะหดตัวร้อยละ -9.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -10.8 ถึง -8.8) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -5.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ –6.4 ถึง -4.4)
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2559
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3) โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 8.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 – 10.0) เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและการใช้จ่ายนอกงบประมาณจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนพัฒนาระบบน้ำและทางถนน ซึ่งคาดว่าโครงการสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ จะสามารถเดินหน้าลงทุนได้มากขึ้นในปี 2559 ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าคาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ประกอบกับด้านการส่งออกบริการยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2559 จะอยู่ที่ 34.2 ล้านคน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 – 5.1) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 – 3.0) จากภาวะตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดีซึ่งจะเป็นผลดีต่อรายได้ภาคครัวเรือนนอกภาคเกษตร ขณะที่ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำรวมทั้งภาวะการเงินที่ผ่อนคลายจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยจะขยายตัวร้อยละ 6.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.1 – 7.1) จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ อาทิ แนวโน้มโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมและการส่งออกสินค้า รวมทั้งความจำเป็นในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 – 2.3) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทยังจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้านำเข้าบางประเภทอาจปรับเพิ่มขึ้น ในส่วนของอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 – 0.9 ของกำลังแรงงานรวม) สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 18.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 4.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 ถึง 6.9 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 25.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 17.4 – 33.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 7.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5 ถึง 9.5) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 ถึง 5.2)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255
--กระทรวงการคลัง--