Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558
1. ลีสซิ่งกสิกรไทย คาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปี 59 ทรงตัวถึงติดลบร้อยละ -2.0
2. ธปท.ภาคใต้ สรุปภาพรวมไตรมาส 3 ปี 2558 ยังขยายตัวดี
3. นักเศรษฐศาสตร์ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจจีนสดใสแม้เศรษฐกิจชะลอตัว
- นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในกลุ่มธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 59 คาดว่าจะอยู่ภายในกรอบร้อยละ 0 ถึงหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อเนื่องจากปี 58 ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.0 เนื่องจากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรก
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทย คาดว่าจะยังคงเผชิญภาวะเสี่ยงจากตลาดรถยนต์ภายในประเทศ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางและผลจากโครงการรถยนต์คันแรกที่จะต้องถือครองครบ 5 ปี ส่งผลต่อแรงซื้อรถยนต์คันใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการก่อหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดต่อการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี คาดไตรมาสสุดท้ายของปี 58 จะมียอดเช่าซื้อเพิ่มขึ้นจากข้อเสนอต่างๆของค่ายรถยนต์และจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่วันที่ 1 ม.ค. 59 เป็นตัวเร่งให้เกิดการบริโภค ประกอบกับการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอันจะส่งผลตอความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและภาคธุรกิจ จากการลงทุนภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาคเอกชนที่จะปรับตัวดีขึ้นตาม ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคจับตา: ยอดขายรถยนต์ไตรมาส 4 ปี 58
- ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แถลงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ในไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวเล็กน้อย จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น แต่มีปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจภาคใต้ในปี 58 มีแนวโน้มขยายตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจาก1) ภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งไทยและต่างชาติ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 58 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 33.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุปสงค์ภายในภูมิภาคที่ค่อยๆฟื้นตัวขึ้น โดยฉพาะการบริโภคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปี 57 ที่ขยายตัว 6.1 สอดคล้องกับยอดจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 58 หดตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปี 57 ที่หดตัวร้อยละ -18.5 และ 3) แนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีผลตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังปี 58 เศรษฐกิจภาคใต้ ต้องเผชิญความเสี่ยงจาก 1) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 2) สถานการณ์ภัยแล้ง และ 3) สถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคจับตา: สถานการณ์ท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในภูมิภาคในช่วงที่เหลือของปี 58
- นายปัง เจียนเฉิง รองผู้อำนวยการศูนย์กลางการติดตามและวิเคราะห์เศรษฐกิจจีน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทรงตัวในช่วงไตรมาส 4 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายด้านการเงินของธนาคารกลางจีน รวมทั้งโครงการก่อสร้างที่สำคัญๆที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานด้านการวางแผนเศรษฐกิจ เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า 1) เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 58 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจาการส่งออกที่หดตัวในอัตราสูง รวมถึงการชะลอตัวของภาคการลงทุนและภาคการผลิต 2) นอกจากนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม NBS ในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ทรงตัวต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงชะลอตัวต่อไป 3) อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 6 ครั้ง และปรับลดสัดส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปลายปี 57 เป็นต้นมา จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป และ 4) สศค. คาดว่า GDP ของจีนในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.8 ประมาณการ ณ เดือน ตุลาคม 2558 จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนและตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 58
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257