รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2015 13:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวร้อยละ -12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ย.58 หดตัวที่ร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย.58 หดตัวที่ร้อยละ -11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน ก.ย.58 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 ขณะที่ การนำเข้าในเดือน ก.ย.58 หดตัวที่ร้อยละ -26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 58 ขยายตัว ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ไต้หวัน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ราคาบ้านใหม่ของจีนเดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมของยูโรโซน เดือน ต.ค. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ 54.0 จุด ขณะที่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ -7.7 จุด

Indicator next week

Indicators                 Forecast   Previous
Oct : Inflation (%YOY)       -0.9       -1.1
  • ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับราคาน้ำมันยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในแดนลบ อย่างไรก็ตาม ราคาผักสดคาดว่า จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยเป็นผลจากเทศกาลกินเจที่ผ่านมา
Economic Indicators: This Week
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ย. 58 มีมูลค่า 56.8 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) กลับมาขยายตัวจากที่หดตัวร้อยละ -2.4 จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ ณ ระดับราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจาก การนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.8 ทั้งนี้ ไตรมาส 3/58 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวร้อยละ -0.7 ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ก.ย.) ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย.58 กลับมาหดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้มีการเร่งโอนไปแล้วในช่วงเวลาก่อหน้า กอปรกับประชาชนชะลอการโอนเพื่อรอดูความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี
  • การส่งออกในเดือน ก.ย. 58 มีมูลค่า 18,815.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.7 และเมื่อปรับ ผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัว ร้อยละ 3.7 จากการกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรมที่ ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -2.9 ตามการขยายตัวของสินค้าในหมวดผลไม้กระป๋องและแปรรูป และน้ำตาลทราย เป็นสำคัญ ประกอบกับสินค้าในหมวดยานยนต์ขยายตัวดีเช่นกัน ร้อยละ 14.4 ในขณะที่ สินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ -15.6 ตามการหดตัวในระดับสูงของข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมถึงการกลับมาหดตัวอีกครั้งของยางพารา ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่องเช่นกัน ร้อยละ -1.9 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัว ร้อยละ -3.1 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกัน ร้อยละ -2.4 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 58 หดตัว ร้อยละ -5.0
  • การนำเข้าในเดือน ก.ย.58 มีมูลค่า 16,021.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ร้อยละ -26.2 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบ ที่หดตัวในระดับสูง ร้อยละ -44.0 -23.1 และ -18.1 ตามลำดับ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวเช่นกัน ร้อยละ -7.9 ในขณะที่ สินค้ายานยนต์ขยายตัว ร้อยละ 11.3 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัว ร้อยละ -12.6 และปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -15.6 ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 9 เดือนของปี 58 หดตัว ร้อยละ -10.5 และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 58 เกินดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicator: This Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ย.58 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย วิทยุ โทรทัศน์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และยานยนต์ ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าขยายตัวร้อยละ 3.4
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย.58 หดตัวที่ร้อยละ -11.7 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงหดตัวร้อยละ -5.6
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 58 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับราคาน้ำมันยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ใน แดนลบ อย่างไรก็ตาม ราคาผักสดคาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยเป็นผลจากเทศกาลกินเจที่ผ่านมา

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง ส่งผลให้ GDP ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ประชุม FOMC ณ 27-28 ต.ค. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี โดยส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 58 นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 97.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากทั้งความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจปัจจุบันและ 6 เดือนข้างหน้าที่ลดลง คำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน จากเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัว ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 468,000 หลัง หรือหดตัวร้อยละ -11.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายบ้านทุกภูมิภาคที่หดตัว

China: mixed signal

ราคาบ้านใหม่เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -2.3 ในเดือนก่อน โดยชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยราคาบ้านใน 39 เมืองจาก 70 เมืองเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ต.ค. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ 54.0 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 53.6 จุด โดยดัชนีฯ ภาคการผลิต ทรงตัวที่ 52.0 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 54.2 จุด สะท้อนความแข็งแกร่งของภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ -7.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยจากความกังวลด้านราคา อย่างไรก็ตาม มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาพรวมและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น

United Kingdom: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตชะลอตัว และภาคก่อสร้างหดตัว ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า เร่งขึ้นจากยอดขายในร้านค้าทั่วไปและเครื่องนุ่งห่ม

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและที่อยู่อาศัยที่ลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -7.6 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 58 ขาดดุล 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และหดตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 30 เดือน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ

South Korea: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์โรค MERS คลี่คลายลง ประกอบกับการลงทุนเพิ่มขึ้นตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน จากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับมาขยายตัว

Japan: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 58 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือนและเชื้อเพลิงพลังงานที่หดตัวเร่งขึ้นเป็นหลัก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อน โดยการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนโดยราคาหมวดคมนาคมขนส่งปรับลดอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Australia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3 ปี 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Singapore:

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 3 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 1,400 จุดอีกครั้ง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 29 ต.ค. 58 ปิดที่ระดับ 1,390.0 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ทั้งสัปดาห์ 46,782 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ภายหลังการประชุมคณะ กรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ณ 27-28 ต.ค. 58 ที่ส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 58 แม้ว่าในช่วงต้นสัปดาห์จะได้รับอานิสงส์จากผลการประชุม ECB ทึ่คงขนาดมาตรการ QE และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ต.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,493.9 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราฯ อายุเกิน 12 ปี ปรับตัวลดลง จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark และพันธบัตร ธปท. อายุ 14 ปีที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 1.66 และ 2.00 เท่าของวงเงินประมูลทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ต.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,190.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาททรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 29 ต.ค 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นริงกิตมาเลเซียที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ยส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.63 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ