Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558
1. สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 3/58 โตร้อยละ 2.9
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจปี 59 โตร้อยละ 2.5 - 3.5 จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ
3. จีนเผยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้
- คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (.สศช) แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/58 ขยายตัวร้อยละ 2.9 สูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่คาดว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวได้ราวร้อยละ 2.9 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.7-3.2 และในปี 59 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.0-4.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/58 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 (qoq_sa) โดยเติบโตมาจากภาคนอกเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งหากพิจารณาองค์ประกอบของการเติบโตเศรษฐกิจไทยพบว่า ด้านการใช้จ่ายเติบโตมาจากการลงทุนภาครัฐที่ยังคงขยายตัวได้ระดับสูงที่ร้อยละ 15.9 ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 และการบริโภคภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ตามค่าใช้จ่ายในหมวดค่าตอบแทนแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการ ในขณะที่ ด้านการผลิตพบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตมาจากภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ หดตัวร้อยละ 0.6 และภาคบริการที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและโทรคมนาคม และการค้าปลีกฯ ส่วนการผลิตภาคเกษตรกรรมยังคงชะลอตัวลงจากปัญหาภัยแล้งที่ทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผลสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.6 - 3.1)
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 59 โดยมองว่าแม้กลไกขับเคลื่อนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ น่าจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวสอดรับกันมากขึ้นในปี 2559 หลังจากที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในปี 2558 ไปแล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินกรอบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ในเบื้องต้นไว้ที่ร้อยละ 2.5-3.5 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.0)
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 - 4.3) โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ด้านการส่งออกบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 59 ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ โดยทั้ง 2 หน่วยงานคาดว่า GDP ในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5 - 3.5) และ ขยายตัวร้อยละ 3.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 - 4.0) ตามลำดับ ซึ่ง สศค. ให้ความสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ มากเป็นพิเศษ เนื่องจากมาตรการเร่งการเบิกจ่ายของรัฐบาล คสช. สามาถก่อให้เกิดผลทางการลงทุนภาครัฐได้จริง สะท้อนจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐตั้งแต่ไตรมาส 1/58 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าจะเป็นการขยายตัวอย่างชะลอลงตามอัตราการเบิกจ่ายในหลายๆ โครงการที่ชะลอลง แต่การลงทุนภาครัฐยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง และในปีหน้า โครงการการลงทุนดังกล่าว จะก่อให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจจริงมากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ อาทิ การจ้างงาน และการลงทุนภาคเอกชน ให้ดีขึ้นตาม ดังนั้น สศค. จึงมองว่า GDP มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ในระดับที่คาดดังกล่าว (คาดการณ์ ณ ต.ค. 58)
- กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) ของจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 หากเทียบรายปี แตะที่ 9.521 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58
- สศค. วิเคราะห์ว่า จาก GDP ของจีนไตรมาสที่ 3 ปี 58 ที่มีการการชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.9 ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งจากอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศต่อสินค้าจีนที่ลดลง นอกจากนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ปี 58 ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนัก สะท้อนจาก มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -19.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 รวมทั้ง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลอลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน อาจเป็นสัญญาณให้นักลงทุนมีการปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศของจีนทีชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้ง อาจต้องติดตามการเปลี่ยนระบบการคำนวณอัตราอ้างอิงของเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257