รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 19, 2015 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอยุทธศาสตร์ส่งออกไทย เชื่อปีหน้ากลับมาเป็นบวกได้

2. รองนายกรัฐมนตรีมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเกินร้อยละ 3 ต่อปี

3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี

1. กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอยุทธศาสตร์ส่งออกไทย เชื่อปีหน้ากลับมาเป็นบวกได้
  • รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ธ.ค. 58 จะมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นนัดแรก โดยกระทรวงฯ จะนำเสนอยุทธศาสตร์การส่งออกของไทย โดยตลาดเป้าหมายอยู่ที่อาเซียน รวมถึงยุทธศาสตร์ในระยะ 3-5 ปี โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในปี 59 จะขยายตัวเป็นบวก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในอนาคตควรกำหนดตลาดส่งออกเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเน้นเป็นรายสินค้า และบริการ โดยตลาดเป้าหมายที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นบวก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อปี และในปี 57 พบว่า สัดส่วนการส่งออกไป CLMV เท่ากับร้อยละ 9.1 เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่อยู่ที่ร้อยละ 8.3 โดยการเจาะตลาด CLMV ควรทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้มูลค่าการค้า การลงทุนขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการบุกตลาดส่งออก ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 58 โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำคณะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เพื่อขยายลู่ทางการค้า การลงทุน หลังจากนั้นจะเดินทางไปเยือนรัสเซีย อินเดีย และจีน ด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.2-5.2)
2. รองนายกรัฐมนตรี มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเกินร้อยละ 3 ต่อปี
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐถาพิเศษ ในหัวข้อ ยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ Thailand's New S - Curve ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้เกินกว่าร้อยละ 3 ต่อปี หลังจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2558 ขยายตัวได้ ร้อยละ 2.9 ต่อปี และหากไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเศรษฐกิจจะเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3 ต่อปี แน่นอน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น 1) การช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมูบ้าน 2) การเร่งรัดโครงการลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท 3) มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 4) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP Fast Track ที่จะทาให้การจัดเตรียมและการนำเสนอโครงการ PPP ในเรื่องต่างๆ มีความรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาใช้เวลาประมาณ 2 ปีจะเหลือเพียงประมาณ 9 เดือน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี จากในปี 58 ที่คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้
3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แม้ได้รับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของธนาคารกลางฯเกี่ยวกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก ทั้งก่อนและหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอินโดนีเซีย สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 58 GDP ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อไตรมาส โดยมีผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 5.5 และในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ