รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2015 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. นายก คาดเศรษฐกิจปีนี้โตกว่าร้อยละ 2.9

2. บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs กว่า 1.2 หมื่นล้าน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

3. มาริโอ ดรากี เผยอีซีบีเผยพร้อมใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ

1. นายก คาดเศรษฐกิจปีนี้โตกว่าร้อยละ 2.9
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 มีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่า ร้อยละ 2.9 ตามที่คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ไว้ หลังจะเห็นผลของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปี 58 ขณะที่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ ภาครัฐจะเห็นการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมในกลางปี 59 นอกจากนี้ นายกฯ ยังกล่าวอีกว่าการลงทุนภาครัฐไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รถไฟ รถไฟฟ้ามอเตอร์เวย์ ถนน ฯลฯ ก็กำลังเร่งดำเนินการอยู่ทุกโครงสร้าง โดยจะเปิดให้เป็นการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 58 การลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 58 ที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี สศค. คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวทั้งปีสูงถึงร้อยละ 21.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 20.7 - 22.7) ทั้งนี้ เนื่องจากอานิสงส์จากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 58 สศค. คาดการณ์ว่าจะขยายตัว ร้อยละ 2.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 - 3.1)
2. บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs กว่า 1.2 หมื่นล้าน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
  • นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปให้การสนับสนุนธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกไทย เพื่อผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น ขณะนี้บริษัทธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP ถือเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกสัญชาติไทยรายแรกที่สามารถเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งจัดทำ "ธนพิริยะโมเดล" เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดส่งต่อความสำเร็จแก่ธุรกิจ ค้าส่งค้าปลีก หรือธุรกิจ SMEs รายอื่นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิเคราะห์ว่า การค้าปลีกค้าส่ง ถือเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนต่อ GDP ด้านการการผลิตของไทย (Supply side) ที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนสูงกว่าภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม โดยสัดส่วนภาคการค้าปลีกค้าส่งต่อ GDP นั้น มีสัดส่วน สูงถึงร้อยละ 13.4 ของ GDP ดังนั้น ภาคการค้าปลีกค้าส่งจึงถือเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย การที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการผลักดันธุรกิจค้าปลีกค้าส่งให้เข้าตลาดหลักทรัพย์จะเป็นอีกช่องทางที่ทำให้ธุรกิจสามารถระดมเงินทุน และให้เกิดการลงทุนเพิ่ม เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ยังนำธุรกิจค้าปลีกไทยที่ประสบความสำเร็จอย่าง บริษัทธนพิริยะ มาเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการยกระดับธุรกิจของไทย ได้รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของร้านค้าส่งค้าปลีกสัญชาติไทย ให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของบริษัทต่างชาติได้ อันจะนำไปสู่การไม่ไหลออกของเงินบาทไปต่างประเทศ และเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้
3. มาริโอ ดรากี เผยอีซีบีเผยพร้อมใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ
  • นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 20 พ.ย. 58 ว่า อีซีบีจะดำเนินการในสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่จะกระตุ้นเงินเฟ้อ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า นโยบายของอีซีบียังไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ทั้งนี้ นักลงทุนต่างจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายดรากี เพื่อประเมินว่า อีซีบีจะผ่อนคลายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติมหรือไม่ในการประชุมวันที่ 3 ธ.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จาก GDP ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศเศรษฐกิจหลักฟื้นตัวต่อเนื่องภายหลังเริ่มดำเนินมาตรการ ผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป ตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.1 แต่ยังคงถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในเดือน ก.ย. 58 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 10.8 ของกำลังแรงงานรวม ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนยังคงมีความเปราะบาง อีกทั้ง หลายประเทศยังคงมีภาระหนี้สาธารณะคงค้างค่อนข้างมาก จึงไม่สามารถใช้มาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Bank lending survey พบว่า ว่านโยบาย QE ของอีซีบีกำลังช่วยให้ตลาดสินเชื่อฟื้นตัวดีขึ้นและช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น ดังนั้นในการพิจารณาใช้มาตรการกระตุ้นเงินเฟ้อ อาจต้องพิจารณาควบคู่ไปกับผลของมาตรการ QE ว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและช่วยกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อได้มากน้อยเพียงใด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ