รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 27, 2015 16:04 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนต.ค. 58 ลดลงร้อยละ -4.8 ต่อปี ขณะที่ การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนต.ค. 58 ปี งปม. 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 58 ปี งปม. 59 ขาดดุลจำนวน -216.1 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ต.ค. 58 หดตัว ร้อยละ -4.1 ขณะที่ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ต.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 58 หดตัว ร้อยละ -4.8 ขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 84.7
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -8.1 ขณะที่ การนำเข้าในเดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -26.2
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3/58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9
  • GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 3/58 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0
  • GDP สหรัฐฯ (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาส 3/ 58 ขยายตัว ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators             Forecast     Previous
Nov : Inflation(%YOY)    -0.7         -0.8
  • ผลจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก รวมถึงราคาผักสดที่คาดว่าจะมีการปรับราคาลดลง ขณะที่สินค้าประเภทอื่นๆ คาดว่าจะยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนต.ค. 58 ได้ทั้งสิ้น 165.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.8 ต่อปี แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ -0.7 โดยมีรายการสำคัญ ดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -5.5 ต่อปี ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงร้อยละ -16.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ต่อปี และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ต่อปี ตามลำดับ
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. 58 ปี งปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 374.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 359.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 336.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 23.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายอื่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 52.8 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 39.1 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนสำนักงานประกันสังคม 25.1 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 14.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -36.0 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราการการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนแรกของปี งปม. 59 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 13.2 ของวงเงิน งปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค.58 ปี งปม. 59 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -216.1 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -11.3 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -229.4 พันล้านบาท และในเดือนแรกของปี งปม. 59 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้วทั้งสิ้น 99.1 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 58 มีจำนวน 295.9 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ต.ค. 58 มีมูลค่า 55.3 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้า ณ ระดับราคาคงที่เป็นสำคัญ ซึ่งหดตัวร้อยละ -15.3 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวอย่างชะลอลงที่ ร้อยละ 4.8 ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ต.ค.) ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ต.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ ร้อยละ 2.3 ต่อปี
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -7.6 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวได้ดี เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนข้าว และเพื่อตอบสนองอุปสงค์อาหารสัตว์จากผลผลิตในหมวด ปศุสัตว์ที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์ โรคระบาด ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าทีหดตัวร้อยละ -4.7 หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) โดยสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกัน โดยในเดือน ต.ค. ดัชนีราคาฯ หดตัวจากราคาข้าวเปลือก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ขณะที่ราคาผลผลิตข้าวโพดยังคงขยายตัวได้ดี จากอุปสงค์อาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนอง ความต้องการในการผลิตปศุสัตว์ที่มีผลผลิตขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 84.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 82.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากยอดขายในประเทศที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่คงทน เนื่องจากในช่วงท้ายปีผู้ประกอบการต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ รวมทั้งยังได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นได้ต่อไป
Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 58 มีมูลค่า 18,566.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ -8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -5.5 และเมื่อปรับ ผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัว ร้อยละ -0.4 จากการกลับมา หดตัวอีกครั้งของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ ร้อยละ -2.0 ตามการหดตัวในระดับสูงของอาหารแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป รวมถึงสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ ร้อยละ -14.5 ตามการหดตัวของข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเช่นกันที่ ร้อยละ -6.6 ตามการหดตัวของสินค้ายานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ ร้อยละ 2.8 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัว ร้อยละ -2.8 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกัน ร้อยละ -5.5 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 58 หดตัว ร้อยละ -5.3
  • การนำเข้าในเดือน ต.ค. 58 มีมูลค่า 16,465.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัวต่อเนื่อง ร้อยละ -18.2 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -26.2 จากการหดตัวในระดับสูงของสินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าวัตถุดิบ ร้อยละ -51.9 และ -21.3 ตามลำดับ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวเช่นกัน ร้อยละ -9.1 ในขณะที่ สินค้าทุน และ สินค้ายานยนต์ยังขยายตัวได้ ร้อยละ 2.5 และ 15.0 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัว ร้อยละ -11.5 และปริมาณ การนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกัน ร้อยละ -7.6 ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 10 เดือนของปี 58 หดตัวร้อยละ -11.3 และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. 58 เกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย. 58 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -0.7 หดตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก รวมถึงราคาผักสดที่คาดว่าจะมีการปรับราคาลดลง ขณะที่สินค้าประเภทอื่นๆ คาดว่าจะยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ปรับเพิ่มขึ้นจากการประกาศครั้งก่อน ส่งผลให้ GDP ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 90.4 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากดัชนีคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้า 6 เดือน จากตลาดแรงงานที่เริ่มอิ่มตัว และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ 447,000 หลัง ลดลงจากเดือนก่อนทั้งจากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ลดลง สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 58 ที่ลดลงมาที่ 219,6000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง ลดลงจากทั้งราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมเช่นกัน ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้น 495,000 หลัง หรือขยายตัวร้อยละ 10.7 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากยอดขายในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้น ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากราคาบ้านทุกภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.8 จุด จากระดับ 52.4 จุดในเดือนก่อน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีฯเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มจากร้อยละ 0.0 ในเดือนก่อน โดยผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในเดือนดังกล่าว ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่นยังคงมีสัญญาณชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน พ.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด สูงที่สุดในรอบ 54 เดือน สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด สูงที่สุดในรอบ 19 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 54.6 จุด สูงที่สุดในรอบ 54 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ -6.0 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ -7.7 จุด ทั้งนี้ การสำรวจส่วนใหญ่ทำขึ้นก่อนเหตุการณ์ระเบิดในปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 58 จึงยังไม่สะท้อนในดัชนีฯ เดือนดังกล่าว

United Kingdom: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 58 ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1.0 จุด จากระดับ 2.0 จุดในเดือนก่อนหน้า จากมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจใน 12 เดือนข้างหน้าที่ลดต่ำลง

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในตัวเลขเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง อาทิ หมวดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ราคาบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน ค่าขนส่ง เป็นต้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าหมวดเครื่องหนัง สิ่งทอ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดี มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากสินค้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค จากการส่งออกที่หดตัวมากขึ้นและการนำเข้าที่เร่งตัว ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 58 ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดที่มิใช่อาหารปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและที่อยู่อาศัยที่กลับมาเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 ขาดดุล 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 7.8 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากการผลิตสินค้าทุกหมวดที่ยังซบเซาต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 26 พ.ย. 58 ปิดที่ระดับ 1,365.81 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 31,739 ล้านบาท โดยเป็นแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากความกังวลต่อการชำระค่าประมูล 4G คลื่น 1800 MHz งวดแรกของทรูที่ผิดเงื่อนไข และยังมีความกังวล่ตอการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. 58 นี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและตุรกีหลังเครื่องบินรัสเซียถูกยิงตกโดยตุรกี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 พ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,861.3 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง 1-9 bps ผลจากแรงซื้อของสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประกันที่ทยอยซื้อในช่วงปลายปี และการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี ที่ได้รับความสนใจถึง 2.81 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 พ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิเพียง 352.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 26 พ.ย. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.54 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้น ยูโร และหยวน ที่อ่อนค่าลง โดยเงินบาทที่แข็งค่าใกล้เคียงกับเงินสกุลส่วนใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.09 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ