Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2558
1. FAA ประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย
2. สมคิด นำ 70 SMEs ไทยเจรจาจับคู่การค้าญี่ปุ่น ยอดซื้อขายกว่า 2 พันล้านบาท
3. จีนมั่นใจเงินหยวนจะสะท้อนมูลค่าตลาด หลัง IMF รวมเงินหยวนเข้าตะกร้าเงิน SDR
- สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยจากประเภทที่ 1 มาเป็นประเภทที่ 2 (category 1 เป็น category 2) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 58 ผ่านทาง website เนื่องจากมาตรฐานการบินของไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
- สศค. วิเคราะห์ว่า การถูกลดลำดับอยู่ในประเภท 2 ของการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยหมายความว่าประเทศนั้นๆ ขาดกฎหมายหรือกฎระเบียบที่จำเป็นในการกำกับดูแลการให้บริการทางอากาศที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขั้นต่ำ อาทิ ด้านความเชี่ยวชาญทางเทคนิค การฝึกอบรมบุคลากร การเก็บบันทึกข้อมูลหรือขั้นตอนการตรวจสอบ โดยการจัดอันดับมาตรฐานให้ไทยอยู่ในประเภทที่ 2 ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้เที่ยวบินจากสหรัฐ ยุโรป หรือหลายประเทศที่บินเข้ามาในไทยที่ต้องต่อเครื่องในไทยไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ อาจไม่มั่นใจสายการบินที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของไทย ในขณะที่ผลกระทบทางตรงคือจะไม่อนุญาตให้มีการเปิดเส้นทางใหม่ไปยังสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันไม่มีสายการบินของไทยบินตรงไปอเมริกา ทั้งนี้ ไทยเคยถูกลดอันดับอยู่ในประเภท 2 ครั้งหนึ่งในปี 2539 แต่ถูกปรับขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม 1 ตั้งแต่ในปี 2540
- อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านอาหาร ยางพารา ดิจิทัลคอนเทนท์ ไลฟสไตล์ และอุตสาหกรรมหนัก 70 ราย เจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างสูง โดยผลการเจรจาธุรกิจมีมูลค่าการซื้อขายภายใน 1 ปีถึงกว่า 2,250 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 9.6 รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล และอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป เป็นต้น โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค. - ต.ค.) ปี 58 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี และจากผลการเจรจาของทั้งสองฝ่าย เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกกับผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการ SMEs โดยมีมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งบรรเทาภาระภาษีและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 58 และรวมถึงปี 59 และจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของจีนเปิดเผยว่า จีนเชื่อมั่นว่าเงินหยวนจะสะท้อนมูลค่าตลาดได้อย่างสมบูรณ์ในวันข้างหน้า หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มสกุลเงินหยวนเข้ามาอยู่ในตระกร้าเงิน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ที่ประชุม IMF มีมติอนุมัติให้นำเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงิน SDR ของ IMF โดยมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค. 59 ส่งผลให้เงินหยวนได้รับการปรับยกสถานะในเวทีการเงินโลก สำหรับสัดส่วนค่าเงินในตะกร้า SDR ภายหลังรวมเงินหยวนมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าเงินหยวนจะมีสัดส่วนร้อยละ 10.92 ในสกุล SDR ค่าเงินยูโรมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 37.40 สู่ระดับร้อยละ 30.93 ค่าเงินปอนด์มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 11.30 สู่ร้อยละ 8.09 ค่าเงินเยนมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 9.40 สู่ร้อยละ 8.33 ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีสัดส่วนร้อยละ 41.73 คงเดิม สำหรับการสะท้อนมูลค่าตลาดของค่าเงินหยวนในอนาคตนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลางจีน ซึ่งคือการยุติแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อควบคุมค่าเงินหยวน โดยจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และในปัจจุบันธนาคารกลางจีนยังคงแทรกแซงตลาดเพียงเพื่อจะควบคุมเงินหยวนไม่ให้ผันผวนมากเกินไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257