รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 22, 2015 11:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2558

Summary:

1. ธปท. เริ่มเห็นปัจจัยบวกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 59 ฟื้นแบบช้าๆ

2. ส่งออกปีวอกโตร้อยละ 5.0 ต้องเอื้อมให้ถึง

3. ตลาดน้ำมันปีหน้ายังเสี่ยงสูง

1. ธปท. เริ่มเห็นปัจจัยบวกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 59 ฟื้นแบบช้าๆ
  • ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ขณะที่ เศรษฐกิจจีนยังชะลอลง ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 59 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังจำกัดอยู่ในบางภาคเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเอกชน และการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีน และเอเชียอาจต่ำกว่าที่คาด และภาวะภัยแล้ง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบ จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่คาดว่าจะกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งปีแรก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากประมาณการครั้งล่าสุดของ สศค. เมื่อเดือน ต.ค. พบว่าปัจจัยที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ ที่จะสามารถขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุดจากสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 50 ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคส่งออกยังคงมีทิศทางขยายตัวเล็กน้อย โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือภาวะเศรษฐกิจจีนในปีหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ จากฐานราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำในปี 58 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยผันผวนในปีหน้าที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะส่งผลโดยตรงต่อภาวะเงินเฟ้อ และดุลการค้าของประเทศ ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถติดตามประมาณการเศรษฐกิจของสศค. ในรอบต่อไปได้ในเดือน ม.ค. 59
2. ส่งออกปีวอกโตร้อยละ 5.0 ต้องเอื้อมให้ถึง
  • มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันการส่งออกของประเทศ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ ในการผลักดันการส่งออกปี 59 รวม 7 ยุทธศาสตร์ พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายการส่งออก ปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งทิศทางจะเป็นอย่างไรก็ต้องเอื้อมให้ถึง โดยปัจจัยลบต่อการส่งออกปีหน้าคงไม่แตกต่างไปจากปีนี้ แต่ปัจจัยบวกก็ยังมีอยู่ จากนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในหลายเรื่อง รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้าในหลายกรอบของไทย การเปิดเออีซี ก็เป็นปัจจัยบวก รวมถึงนโยบายการสนับสนุน 10 คลัสเตอร์เพื่อดึงการลงทุนก็จะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สำหรับทิศทางการส่งออกในปี 59 มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากปี 58 อาทิ นโยบายภายในของประเทศคู่ค้าที่ในหลายประเทศเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน และอินโดนีเซียที่พยายามพึ่งพาการผลิตและอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ราคาสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์โลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ รวมไปถึงราคาน้ำมันและค่าเงินที่ยังผันผวนและปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของหลายประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายของรัฐบาลที่พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยุทธศาตร์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกในปี 59 ให้ฟื้นตัวได้ดีกว่าในปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 ถึง 5.2) ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 58
3. ตลาดน้ำมันปีหน้ายังเสี่ยงสูง
  • มอร์แกนแสตนเลย์ วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมาให้มุมมองต่อราคาน้ำมันในปีหน้าว่ายังคงมีความเสี่ยงสูงทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ในด้านอุปสงค์ มอร์แกนสแตนเลย์มองว่าจะยังคงมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้เมื่อพิจารณาจากทิศทางของการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทหลักในปัจจุบัน โดยประเทศผู้บริโภครายสำคัญมีการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในด้านอุปทาน มอร์แกนสแตนเลย์มองว่าผลกระทบของราคายังไม่ส่งผลให้ผู้ผลิตหลักๆ ในสหรัฐฯ ลดการผลิตลงอย่างมีนัยยะสำคัญ การผลิตรวมที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากผู้ผลิตรายเล็กและโครงการที่ต้นทุนสูงเท่านั้น ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิตที่สูงทำให้สหรัฐฯ จะยังคงกำลังการผลิตในระดับสูงไว้ได้ อีกทั้งอุปทานกลุ่มโอเปค โดยเฉพาะอิหร่าน และความเป็นไปได้ของการเพิ่มขึ้นด้านการผลิตจากลิเบียจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อตลาดน้ำมันในปีหน้าเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดค่อนข้างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดน้ำมันในปีหน้าจะยังคงอยู่ในช่วงของการปรับตัว (Rebalancing) จากระดับราคาที่เป็นระดับปกติใหม่ โดยมองว่าราคาระดับต่ำในปัจจุบันจะทำให้อุปทานส่วนเกินจะทยอยปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของตลาดจากปัจจัยพื้นฐานจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีปัจจัยกดดันหลักๆ ตามที่มอร์แกนแสตนเลย์ได้กล่าวถึง ในด้านของราคาเฉลี่ยทั้งปี สศค. มองว่าจากการปรับตัวของตลาดที่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับปัจจัยเสี่ยง และราคาในระดับปัจจุบันที่อยู่ระดับต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีในปีหน้ามีโอกาสที่จะทรงตัวหรืออยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีนี้ที่ประมาณ 51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ