Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2558
1. ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สูงสุดในรอบ 7 เดือน
2. CIMBT มองศก.ปี 59 โตร้อยละ 3.3 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ-ส่งออกยังเสมอตัว-บาทแตะ 38
3. รัฐบาลญี่ปุ่นคาด GDP ในปีงบประมาณ 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.7
- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย.58 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.7 ในเดือนต.ค.58 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.58 ที่เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจาก 1) การบริโภคภายในประเทศมีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา 2) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงต่อเนื่องจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่งค่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มการลงทุนในการปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาภัยแล้งจับตา: ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.58
- นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 จะเติบโตได้ร้อยละ 3.3 จากปีนี้ที่คาดจะขยายตัวได้ 2.7% ซึ่งจะเป็นการเติบโตทางเทคนิค โดยมีปัจจัยมากจากการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าส่งออก รวมถึงราคาสินค้าเกษตร อีกทั้งแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้น และส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังประเมินว่า ค่าเงินบาทในปี 59 จะอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ 2) อานิสงค์จากการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือ SMEs และการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motroway) และโครงการรถไฟรางคู่ และ 3) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกสินค้าและบริการของไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 - 4.3) และคาดว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ช่วงคาดการณ์ที่ 35.5-37.5) คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 58 จับตา: ผลของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 59 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุน
- รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะขยายตัวราวร้อยละ 1.7 ในปีงบประมาณ 59 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนเม.ย.ปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับแรงหนุนจากงบประมาณพิเศษที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นผ่านการบริการด้านสวัสดิการ และภาคการเกษตร โดยคาดว่าภาคส่วนเหล่านี้จะมีส่วนช่วยหนุน GDP ให้ขยายตัวราวร้อยละ 0.4
- สศค. วิเคราะห์ว่า 1) แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากปี 57 สะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง 9 เดือนแรกปี 59 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม (Quantitative and Qualitative Easing :QQE) ของรัฐบาลทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออก โดยในช่วง 11 เดือนแรกปี 58 การส่งออกญี่ปุ่นขยายตัวไปแล้วร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 2) สำหรับปี 59 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 58 ที่ร้อยละ 0.9 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่ 2 โดยมาตรการสำคัญคือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ ให้อยู่ที่ 600 ล้านล้านเยนภายในปี 2563 เป็นต้น จับตา: ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 59
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257