รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 14:02 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 58 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 232.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 58 มีจำนวน 25,732 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.0
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 50,694 คัน หรือขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 15.7
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 85.8
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ต.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -9.0
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาส 3 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือน ธ.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ -5.7 จุด
  • มูลค่าการส่งออกของอินเดีย เดือน พ.ย. 58 หดตัว ร้อยละ -24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -30.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกง เดือน พ.ย. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators         Forecast     Previous
Nov : MPI (%YOY)     -1.0        -4.2
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 85.8 รวมทั้งคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นสำหรับรองรับเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปัญหาภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการหดตัวของผลผลิตอุตสาหกรรม
Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 58 ปี งปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 232.9 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 209.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.7 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 197.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 (2) รายจ่ายลงทุน 11.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 63.3 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 14.5 พันล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 6.1 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 24.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.5 ทั้งนี้ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 2 เดือนแรกของปี งปม. 59 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.9 ของวงเงิน งปม.
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 58 มีจำนวน 25,732 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -19.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้รถยนต์ ทั้งนี้ ข้อมูล 11 เดือนของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 50,694 คัน หรือขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมีการเร่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์จากการที่จะมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 59 และเป็นผลจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่ได้แนะนำสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 16.2 เช่นเดียวกับรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 14.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.3 หลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 84.7 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากการที่ผู้ประกอบการมองว่าการบริโภคภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล เป็นต้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปัญหาภัยแล้ง ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการชะลอการลงทุนของผู้ประกอบการ
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ต.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -9.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.3 หลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงหดตัวร้อยละ -6.8
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 58 คาดว่าจะหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -4.2 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 85.8 รวมทั้งคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นสำหรับรองรับเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปัญหาภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการหดตัวของผลผลิตอุตสาหกรรม

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับลดลงจากการประกาศครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากคำสั่งซื้ออุปกรณ์ด้านการขนส่งที่ขยายตัวขึ้นมาก และสินค้าคงทนอื่นๆ ที่กลับมาขยายตัว ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง บ่งชี้จากราคากลางบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 220,300 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งจากบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม ขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 58 เพิ่มขึ้น 351,000 หลัง ชะลอลงจากเดือนก่อน จากบ้านเดี่ยวที่ลดลง ด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 490,000 หลัง ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 4.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายภาคใต้และตะวันตกที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคากลางบ้าน เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากราคาแถบตะวันออกเฉียงใต้และนิวอิงแลนด์ที่ลดลง

Japan: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าหมวดอาหารและค่าขนส่งยังคงปรับตัวลดลง อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม สูงขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ -5.7 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ -5.9 จุดในเดือนก่อนหน้า นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน

India: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 1 ปี จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้การส่งออกสินค้าปิโตรเลียมหดตัว มูลค่านำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -30.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 1 ปี เช่นกัน จากราคาทองคำที่ลดลง ทำให้มูลค่านำเข้าทองคำชะลอตัว ส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน พ.ย. 58 ขาดดุล 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

United Kingdom: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ปรับลดลงจากการประกาศครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้อัตราการขยายตัวใน 3 ไตรมาสแรกปรับลดลงจากร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 2.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1.0 จุด จากมุมมองทางด้านการเงินและสภาพเศรษฐกิจ ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ลดต่ำลง

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 2 โดยราคาไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำ กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังหดตัวใน 3 เดือนก่อนหน้า และราคาขนส่งหดตัวน้อยลง ขณะที่ราคาอาหาร ค่าเช่าบ้าน และบริการขยายตัวชะลอลง

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์และเครื่องใช้ในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เร่งตัวสูงขึ้นในเดือนดังกล่าว ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดอาหารมีแนวโน้มลดลง

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 ทรงตัวเท่าเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ยกเว้นสินค้าหมวดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และหมวดสันทนาการและวัฒนธรรม ที่ยังเร่งตัวสูงขึ้นในเดือนดังกล่าว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 58 หดร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัวต่อเนื่อง อาทิ เครื่องหนัง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม ผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยหดตัวชะลอลงจากร้อยละ -6.3 ในเดือนก่อน จากการผลิตอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่หดตัวชะลอลง ในขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอื่นยังหดตัวต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ในช่วงต้นสัปดาห์ โดยเป็นจากหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน และสื่อสาร ภายหลังผลการประมูลคลื่น 4G 900MHz มีมูลค่าสูงทำลายสถิติโลก และราคาน้ำมันในตลาดโลกแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี สร้างความกังวลแก่นักลงทุน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด จากข่าวการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงปีใหม่ของรัฐบาล ทำให้หุ้นกลุ่มพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีฯ ณ วันที่ 24 ธ.ค 58 ปิดที่ระดับ 1,284.15 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์สูงถึง 48,013 ล้านบาท และระหว่างวันที่ 21 - 24 ธ.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิถึง 17,443.7 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง 1-7 bps โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ จากการเข้าซื้อต่อเนื่องจากบริษัทประกันและกองทุนในช่วงปลายปี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 ธ.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 1,136.5 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 24 ธ.ค. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.08 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ค่าเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้นตามดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงขณะที่เงินสกุลอื่นแข็งค่า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.80 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ