รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 15:06 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 35/2558

วันที่ 28 ธันวาคม 2558

“เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2558 บ่งชี้สัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 ว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2558 บ่งชี้ สัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2558 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเดือน จากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว ร้อยละ 7.0 ต่อปี เป็นสำคัญ สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัว ร้อยละ 6.6 ต่อเดือน จากการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตภูมิภาค และในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันอยู่ที่ระดับ 63.4 โดยมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นสำคัญ ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า มาตรการภาษีล่าสุดที่ออกมาในช่วงปลายปี 2558 โดยการให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2558 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะสามารถช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ต่อไป

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ ร้อยละ 20.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์พบว่า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อเดือน

3. สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง และดุลงบประมาณที่ขาดดุล โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 232.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 209.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 197.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 11.5 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.0 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 179.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี ส่งผลให้ดุลงบประมาณขาดดุล -54.2 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

4. ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.4 ต่อปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2558 หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.5 ต่อปี และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -11.2 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2558 เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 85.8 สำหรับภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -26.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับยางพารา และปาล์มน้ำมันที่หดตัว เป็นสำคัญ

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวที่ ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากปัจจัยการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 43.8 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ