รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2015 14:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2558

Summary:

1. ครม.อนุมัติเป้าหมายนโยบายการเงินปี 59 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 2.5 +/- 1.5

2. ดัชนี MPI พ.ย.58 ขยายตัวร้อยละ 0.1 มาที่ 105.39 จาก 105.29 ใน พ.ย.57

3. บริษัทเหล็กรายใหญ่ของจีนขาดทุนหนัก

1. ครม.อนุมัติเป้าหมายนโยบายการเงินปี 59 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 2.5 +/- 1.5
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 59 ที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.5 +/- 1.5 เท่ากับปี 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วง 11 เดือนแรกของปี อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสม เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2559 มีแนวโน้มลดลงกว่าปี 2558 เนื่องจากอุปทานส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปสงค์การบริโภคน้ำมันยังไม่เพิ่มมากนักตามการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในปี 59 ยังมีความเสี่ยงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางของค่าเงินบาท หรือความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 59 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.75 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 58) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตา: อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 59 ราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 59 และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ปี 59
2. ดัชนี MPI พ.ย.58 ขยายตัวร้อยละ 0.1 มาที่ 105.39 จาก 105.29 ใน พ.ย.57
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน พ.ย.58 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% มาที่ 105.39 จากเดือน พ.ย.57 อยู่ที่ 105.29 โดยคาดว่า MPI ทั้งปี 58 จะอยู่ที่ -0.5 ถึง 0.5% ส่วนในปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.3% ส่วนอัตราการใช้กำลังผลิตในเดือน พ.ย.58 อยูที่ 63.16% ลดลงจาก 64.09% ในเดือน พ.ย.57 ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.9% และทั้งปี 58 คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 0-1% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2.5%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ดัชนี MPI ที่เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณบ่งชี้การฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การกลั่นน้ำมัน และเครื่องปรับอากาศ ที่ปรับตัวดีขึ้น 2) ในปี 2559 อุตสาหกรรมเด่น จะยังคงเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ โดย สศอ. คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 2.15 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 และ 3) การขยายตัวของ MPI ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นชองนักลงทุน สะท้อนจากดัชนีความเขื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน พย. ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 85.8 และสูงสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และผลของมาตรการภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในปี 2558 ให้สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.1 คาดการณ์ ณ เดือนต.ค. 58 จับตา: ผลของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการลงทุนไตรมาสสุดท้ายปี 58 และปี 59 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปี 59
3. บริษัทเหล็กรายใหญ่ของจีนขาดทุนหนัก
  • สมาคมเหล็กและเหล็กกล้าจีน เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ในจีนมียอดขาดทุนประมาณ 53,000 ล้านหยวนในช่วง 11 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับยอดกำไรประมาณ 24,000 ล้านหยวน ในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทเหล็กกล้ารายใหญ่ 51 แห่ง มีรายได้ติดลบ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 27 แห่ง และในเดือนพฤศจิกายนบริษัทเหล็กกล้า 62 แห่ง มียอดขาดทุนรวมกัน 15,900 ล้านหยวน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) เศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินหยวนที่ผันผวนภายหลังการการในตระกร้าเงิน SDR ของ IMF ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ เป็นต้น 2) จีนยังอาจะต้องเผชิญกับกับปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาวะการชาดทุนของหลายภาคอุตสาหกรรม และแม้ว่าตลาดอสังหาจะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังคงมีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากโดยเฉพาะในเมืองรอง และ 3) หากจีนลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การดำเนินนโยบายการเงินแบบไม่สอดคล้องของสองมหาอำจาจ จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินหยวนผันผวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อหนี้ต่างประเทศของบริษัทของจีน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2558 และ 2559 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.9 และ 6.8 ตามลำดับ จับตา: คาดการณ์การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายของจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ