รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2015 14:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์เผยส่งออก พ.ย. ติดลบร้อยละ -7.42

2. สศก.มองราคาน้ำมันตลาดโลกวูบช่วยลดต้นทุน-ดัน GDP การเกษตรโต

3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -1.0

1. พาณิชย์เผยส่งออก พ.ย. ติดลบร้อยละ -7.42
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ 69024 กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ย. 58 มีมูลค่า 1.71 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -7.42 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -9.53 ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า พ.ย. 58 อยู่ที่ 10,234 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการค้าต่างประเทศของไทย ทั้งด้านการส่งออกสินค้าและการนำเข้าสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวน ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าดังกล่าวหดตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง ในเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 -6.3 -5.7 และ -6.7 ตามลำดับ หากพิจารณาในมิติด้านการส่งออกเดือน พ.ย.58 หดตัวร้อยละ -7.4 พบว่าติดลบเป็นเดือนที่ 11 เกิดจากการส่งออกสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลงโดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ -29.8 นอกจากนี้สินค้าอื่นๆ ที่หดตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางและเคมีภัณฑ์ที่หดตัวร้อยละ -20.3 และ -17.3 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าก็หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -9.5 ทั้งนี้ ณ เดือน ต.ค. 58 สศค. คาดว่าการส่งออกสินค้าในปี 58 จะหดตัวร้อยละ -5.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -6.4 ถึง -4.4) และคาดว่าในปี 59 จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 ถึง 5.2) โดยจะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง ณ วันที่ 29 ม.ค. 58
2. สศก.มองราคาน้ำมันตลาดโลกวูบช่วยลดต้นทุน-ดัน GDP การเกษตรโต
  • นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.24
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 59 ทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกน่าจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยจะเป็นผลดีต่อภาคการเกษตรในด้านต้นทุนการผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะในสาขาประมง และสาขาการบริการทางการเกษตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกล จากการวิเคราะห์ของ สศก. พบว่า ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรโดยรวมทั้งทางตรง และทางอ้อมจะลดลงร้อยละ 11 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยลบต่อภาคเกษตรอย่างใกล้ชิดด้วย อาทิ ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะราคายางพารา ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางตรงในระดับสูงกับราคาน้ำมันดิบ กอปรกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบได้ ถึงแม้ว่าการพยากรณ์ของ IRI Consensus Probabilistic ENSO Forecast ว่าความน่าจะเป็นในการเกิดปรากฎการณ์เอลนิโญ่ในปี 59 จะลดลงก็ตาม ดังนั้น เกษตรกรควรมีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างชาญฉลาด และสามารถปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกตามสภาวะภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงทีเพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบได้
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -1.0
  • กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานเบื้องต้นว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. หดตัวลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรนิกส์ เครื่องจักร และ ผลิตภัณฑ์เคมี ซบเซาลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกลับมาหดตัวอีกครั้งของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -1.0 จากเดือน ต.ค. และ ก.ย. 58 ที่ขยายตัวเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.4 และ 1.0 ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตยังไม่แข็งแกร่งนัก อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด แม้จะลดลงจากระดับ 52.6 จุดในเดือนก่อน แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด กอปรกับผลจากค่าเงินเยนที่อ่อน และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นแก่นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ อาทิ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ล้วนแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้กิจกรรมภาคบริการสามารถขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ จำเป็นต้องติดตามผลของการดำเนินมาตรการ QQE ประมาณ 80 ล้านล้านเยนต่อปีต่อเนื่องธนาคารกลางญี่ปุ่นที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 59 เป็นต้นไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ