Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 มกราคม 2559
Summary:
1. อัตราเงินเฟ้อปีนี้หดตัวลงร้อยละ 0.9 ติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี
2. ตลาดรถยนต์ปี 59 ภาษีสรรพสามิตกระทบรถใหม่
3. ส่งออกเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ -7.9 ร่วงหนักสุดรอบ 6 ปี
1. อัตราเงินเฟ้อปีนี้หดตัวลงร้อยละ -0.9 ติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี
- ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 58 ลดลงร้อยละ 0.85 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 58 ลดลง ร้อยละ 0.90 เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.68 ในเดือน ธ.ค. ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 59 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1-2 โดยมีสมมติฐานหลัก คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ที่ ร้อยละ 3-4 ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 48-54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 ติดลบที่ร้อยละ -0.9 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ โดยส่งผลทางตรงผ่านราคาสินค้าหมวดพาหนะและขนส่ง (สัดส่วนร้อยละ 25.5 ในตะกร้าสินค้า) และยังส่งผลทางอ้อมผ่านต้นทุนราคาสินค้าต่างๆที่ลดลง ที่เห็นได้ชัดก็คือการปรับลดค่า ft ของ ค่าไฟฟ้า (สัดส่วนร้อยละ 4.9 ในตะกร้าสินค้า) ทั้งนี้ หากขจัดผลของราคาพลังงาน และราคาอาหารสดออกไป พบว่าราคาสินค้ายังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ในปี 58 จึงไม่ถือว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด สำหรับในปี 59 ปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
2. ตลาดรถยนต์ปี 59 ภาษีสรรพสามิตกระทบรถใหม่
- นายโมะริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปี 59 จะใกล้เคียงกับปี 58 โดยมีปัจจัยบวกคือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของภาครัฐที่จะเริ่มเดินหน้า แต่ปัจจัยลบคือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ตลาดส่งออกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และกำลังซื้อรถยนต์ของต้นปีนี้ถูกดึงไปบางส่วน ทั้งนี้ เพราะผู้บริโภคต้องการซื้อรถยนต์ในราคาเดิม ก่อนจะปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 59 จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่
- สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลยอดขายรถยนต์ในช่วง 11 เดือนของปี 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 698,168 คัน หดตัวร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ข้อมูลในเดือน พ.ย. 58 พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.6 หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายทั้งสิ้น 76,426 คัน เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. 59 ทำให้รถยนต์หลายรุ่นมีการปรับราคาขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการเร่งสั่งซื้อในช่วงปลายปี 58 ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปี 59 ยอดจองใหม่ๆ อาจจะลดลงแต่ยอดส่งมอบจะสูง เพราะมียอดจองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในปี 59 ยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวบ้าง รวมถึง ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ
3. ส่งออกเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ -7.9 ร่วงหนักสุดรอบ 6 ปี
- กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน เกาหลีใต้ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าในปี 2558 เกาหลีใต้มียอดส่งออกลดลงร้อยละ -7.9 เมื่อเทียบกับปี 2557 มาอยู่ที่ 527,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการร่วงลงหนักสุดในรอบ 6 ปี ผลจากเงินวอนแข็งค่าขึ้น และราคาน้ำมันที่ดิ่งลงอย่างหนัก โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีลดลงร้อยละ 37 และร้อยละ 21 ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 13 ของไทย โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศเกาหลีใต้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.0 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินค้าส่งออกหลักที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ น้ำตาลทราย และยางพารา สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ชะลอตัวลง โดย สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257