รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 8, 2016 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มกราคม 2559

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ธ.ค. 58 ดีขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน

2. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 59

3. ก.ล.ต. จีนห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทมหาชนขายหุ้นมากกว่าร้อยละ 1 เป็นเวลา 3 เดือน

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ธ.ค. 58 ดีขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม. หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจherek 69024 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 65.1 สูงขึ้นจากระดับ 63.4 จุดในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจาก 1) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจส่งท้ายปี 58 "ช็อปปิ้งเพื่อชาติ" 2) การปรับเพิ่มประมาณการณ์เศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ 3) ราคาน้ำมันในประเทศซึ่งอยู่ระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยลบได้แก่ 1) ธปท. ลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 59 ลงเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน 2) การส่งออกไทยที่ยังคงอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง 3) ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ 4) เงินบาทที่อ่อนค่า 5) สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ยังส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกและไทยในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนมุมมองผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเชิงบวกเพิ่มขึ้น ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาต่อเนื่องเป็นแรงสนับสนุนให้ประชาชนมีความมั่นใจและมีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีขึ้น อาทิ ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวแต่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนโดยเฉพาะการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่อยู่ในระดับต่ำ และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจหมดลง ยังเป็นข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยในปี 59 นี้

ทั้งนี้ สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งถัดไปในช่วงปลายเดือน ม.ค. 59 นี้

2. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.9
  • ธนาคารโลกประกาศคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในรายงาน Global Economic Prospects (GEP) ณ เดือน ม.ค. 59 โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ลดลงจากร้อยละ 3.3 ในประมาณการเดือน มิ.ย. 58 เนื่องจากเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ อาทิ จีน บราซิล และรัสเซีย ชะลอตัว และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ชะลอลงตามไปด้วย สำหรับเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกคาดการณ์ในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 เช่นเดียวกับการคาดการณ์ในรายงาน Ease Asia and Pacific Economic Update ณ เดือน ต.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะชะลอลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในประเทศมีความล่าช้า และหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่แตกต่างจาก สศค. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 ยังมีแรงส่งของการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 58 โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ และก่อให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อบริโภคและลงทุนในประเทศ ขณะที่ความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตร กอปรกับด้านราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
3. ก.ล.ต. จีนห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทมหาชนขายหุ้นมากกว่าร้อยละ 1 เป็นเวลา 3 เดือน
  • คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) ประกาศว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถือหุ้นร้อยละ 5 หรือมากกว่า) ในบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขายหุ้นมากกว่าร้อยละ 1 ของหุ้นที่ถืออยู่ภายในระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะต้องแจ้งแผนการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นให้กับ CSRC ทราบล่วงหน้า 15 วันทำการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทางการจีนได้ออกมาตรการดังกล่าวนี้มาทันกาลก่อนที่กฎห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหุ้นส่วนของตนเองเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 58 จะหมดอายุลงในวันที่ 8 ม.ค. 59 นี้ ซึ่งการที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อาจสามารถกลับมาขายหุ้นของตนได้อีกครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุน สะท้อนจากที่ตลาดหลักทรัพย์จีนต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Break) ถึง 2 ครั้งในสัปดาห์นี้ (วันที่ 4 และ 7 ม.ค. 59) เนื่องจากดัชนี CSI 300 ของจีนปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 7 ในระหว่างวัน โดยมาตรการ Circuit Break นี้ได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 59 เป็นวันแรก อย่างไรก็ตาม แม้ทางการจีนจะออกมาตรการพยุงตลาดหลักทรัพย์ออกมาเพิ่มเติมและอาจบรรเทาการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ช่วงหนึ่ง แต่มาตรการการห้ามขายเช่นนี้ ส่วนหนึ่งกลับเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจทำให้นักลงทุนเร่งเทขายหลักทรัพย์เมื่อยังมีโอกาสได้ ทั้งนี้ CSRC ยังได้ยกเลิกการใช้ Circuit Break ชั่วคราวนับจากวันที่ 8 ม.ค. 58
  • นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์จีนได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญหลายแห่งปรับตัวลดลงตาม รวมทั้งดัชนี SET ของไทยซึ่งปิดตลาดวันที่ 7 ม.ค. 59 ที่ 1,224.83 จุด ลดลงร้อยละ -2.79 จากวันก่อนหน้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ