Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 มกราคม 2559
1. รองนายก สมคิด หารือทูตพาณิชย์ผลักดันส่งออก 20 ม.ค.นี้
2. ปลัดเกษตรฯ เตรียมเสนอครม.แนวทางใช้ยางพาราในประเทศ ปี 59-60
3. มาเลเซียเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. ขยายตัวร้อยละ 1.8 น้อยกว่าคาดการณ์
- นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า กระทรวงพาณิชย์จะจัดประชุม69024 ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ จากทั่วโลกในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งการมอบนโยบาย เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยในปีนี้ให้เติบโตได้ตามเป้าที่ร้อยละ 5.0
- สศค. วิเคราะห์ว่าจากข้อมูลการส่งออก 11เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 58 การส่งออกมีมูลค่าการส่งออก 197,275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.51เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการลดลงของการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ -9.27 สินค้าอุตสหกรรมลดลงร้อยละ -3.73 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -27.76 การหดตัวของการส่งออกที่หดตัวนั้นเกิดจาก เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดีมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งเปนคู่ค้าอันดับที่หนึ่งกับประเทศไทย โดยจากมาตรการที่รองนายกได้เรียกทูตการค้าต่างประเทศมาหารือเพื่อเพิ่มการส่งออกในครั้งนี้ จะทำให้มูลค่ากรส่งออกของประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้น โดยน่าจะเป็นไปตามเป้าการส่งออกที่ สศค.ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกของประเทศไทยในปี 59 จะเดิบโตร้อยละ 3.2 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 58)
- นายธีรภัทร ประยูรสิทธิปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่าในส่วนของกระทรวงเกษตรฯได้หารือถึงการใช้ยางพาราในประเทศของส่วนราชการโดยใช้งบประมาณปี 59-60 ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดที่คาดว่าจะนำเสนอการใช้ยางพาราในประเทศจำนวน 8 หน่วยงาน
- สศค. วิเคราะห์ว่าจากข้อมูลดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในหมวดราคายางแผ่นดิบชั้น 3 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ล่าสุดในเดือน พ.ย. 58 พบว่าหดตัวร้อยละ -21.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวในระดับสูงต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ยางพาราจากจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ลดความร้อนแรงลง กอปรกับมีพื้นที่เปิดกรีดได้มากขึ้นเนื่องจากแรงดึงดูดจากราคายางพาราที่อยู่ในระดับที่สูงมากก่อนหน้านี้ อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมากขึ้นทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติน้อยลง อาทิ เทคโนโลยีการผลิตยางคอมปาวด์ ซึ่งใช้น้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยางพาราธรรมชาติซึ่งมีราคาถูกกว่าเป็นส่วนประกอบมากขึ้น และเทคโนโลยีการผลิตยางโดยใช้น้ำยางจากพืชตระกูลหญ้าวายูเล่ (guayule) ซึ่งมีรอบการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่า และมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ทำให้ความต้องการยางพาราของโลกลดลง อย่างไรก็ตาม หากสามารถกระตุ้นให้เกิดการบริโภคยางพาราภายในประเทศได้มากขึ้น โดยที่หน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักที่มีการบริโภคยางพาราในประเทศอย่างบูรณาการ ก็จะเป็นส่วนช่วยให้สถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำ ในขณะนี้ดีขึ้นได้ และเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยก่อให้เกิดรายได้มากกว่าการส่งออกยางพาราในรูปสินค้าขั้นต้นเพียงอย่างเดียว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ชะลอตัวลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียล่าสุดมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP ไตรมาส 3 ปี 58 ชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ บ่งชี้ถึงกิจกรรมภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์เปราะบาง โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาเลเซียที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับสูง ทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและยางพารา อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของมาเลเชียถือว่าได้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี ผลจากเงินริงกิตที่อ่อนค่าซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออก สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดประเทศคู่ค้าหลักยังขยายตัวได้ ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.1 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 1 หมื่นล้านริงกิต ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (คาดการณ์ ณ ต.ค. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257