รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2016 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 มกราคม 2559

Summary:

1. ลดค่าแรกเข้าใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

2. เอกชนหวั่นลดค่าหยวนกระทบส่งออกไทย

3. อินเดียเผยยอดส่งออกเดือนธ.ค. 58 ร่วงเป็นเดือนที่ 13

1.ลดค่าแรกเข้าใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • นายปรเมธีวิมลศิริเลขาฯ สศช. เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าธรรมเนียมแรกเข้าใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก 6 จังหวัดลงร้อยละ 50 จากเดิมไร่ละ 3-6 แสนบาทเหลือเพียง 1.6-3 แสนบาทโดยชำระครั้งเดียวหรือผ่อนชำระในเวลา 5 ปีซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้วสงขลา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบัน ภาคการส่งออกของไทยกำลังประสบกับความยากลำบาก โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐของไทยกำลังจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การส่งออกของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV โดยในปี 58 ข้อมูล 11 เดือนแรกการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเติบโตถึงร้อยละ 7.8 ซึ่งนับเป็นตลาดหลักของไทยในอันดับที่5 และกำลังจะเพิ่มความสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน นับเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง โดยในช่วงแรก จำเป็นต้องมีนโยบายในการดึงดูดนักลงทุนที่มีความสามารถด้วยการลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพื่อเป็นการสร้างอนาคตอย่างมีศักยภาพ โดยการสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศผ่านการค้าขายในกลุ่มอาเซียนที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
2. เอกชนหวั่นลดค่าหยวน กระทบส่งออกไทย
  • นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้มองว่าเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัว และคาดว่า GDP ของจีนอาจเติบโตไม่ถึงร้อยละ 6.4 และหากจีนเลือกใช้มาตรการลดค่าเงินหยวนและลดดอกเบี้ยก็จะกระทบกับประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม คาดว่าจะทำให้สัดส่วนการส่งออกไปจีนลดลงถึงระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 และการส่งออกไปยังจีนลดลงจากปีก่อนประมาณร้อยละ 5
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยล่าสุดในช่วง 11 เดือนของปี 58 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนที่ร้อยละ 11.1 ของการส่งออกทั้งหมด แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจจีนมีความผันผวนประกอบกับค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้เงินบาทของไทยอ่อนค่าตาม เช่นเดียวกับค่าเงินของสกุลเงินอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงตามจีนด้วย กรณีนี้คงมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และถ้าหากว่าค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความกังวลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจจีนเอง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจีนยังคุมค่าเงินให้อยู่ในกรอบ และสามารถพยุงให้เศรษฐกิจภายในขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 58 ที่ร้อยละ 6.9 ถึงแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงแต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่เกิดภาวะชะลอตัวแรงทั้งนี้ในมุมมองของการส่งออก สศค. มองว่าจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนนั้น ผู้ประกอบการ ควรขยายตลาดการส่งออกไปยังประเทศที่มีแนวโน้มว่าประชากรขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย และแอฟริกา เป็นต้น เป็นการขยายตลาดไปยังตลาดอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดหลักที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เพื่อผลักดันให้การส่งออกในปี 59 ขยายตัวได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดย สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2-5.2) ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 58
3. อินเดียเผยยอดส่งออกเดือนธ.ค. 58 ร่วงเป็นเดือนที่ 13
  • กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย เผยว่า ยอดส่งออกของอินเดียในเดือนธ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -14.75 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ส่วนการนำเข้าในเดือนธ.ค.ลดลง ร้อยละ3.88 เมื่อเทียบรายปีขณะที่ยอดขาดดุลการค้าของอินเดียเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.166 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดการส่งออกของอินเดียลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 สะท้อนถึงประเทศอินเดียได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้อินเดียส่งออกสินค้าได้น้อยลง เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงในสหรัฐและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของอินเดีย ประกอบกับอินเดียยังได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินหยวนของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกที่สำคัญ นอกจากนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียล่าสุดสะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี จากอุตสาหกรรมการผลิตและสินค้าทุนที่กลับมาหดตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ติดลบต่อเนื่อง 15 เดือน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของอินเดียในปี 58 และ 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 และ 7.2 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ